Tuesday 19 August 2014

เจาะลึกมนต์ขลังเพลงขลุ่ยของโมสาร์ท - The Magic Flute

 ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๗

ไหนๆก็อุตส่าห์ด้นดั้นไปดูโอเปร่าเรื่องนี้ถึงเมือง Bregenz [เบร๊เก้นซฺ] ประเทศออสเตรีย ตากลมตากฝนอยู่หลายชั่วโมง, จะให้หยุดอยู่แค่ความตื่นตาตื่นใจกับฉากบนเวทีกลางทะเลสาบเท่านั้น ก็กระไรอยู่, จึงต้องกลับมาทบทวนฟังดนตรีและดูใหม่อีกตั้งแต่ต้นจนจบ. ความจริงก็ดูเรื่องนี้หลายครั้งแล้ว ดูแล้วก็แล้วกันไป, แต่ครั้งนี้ตัดสินใจหาความรู้ให้ลึกลงไปอีกหน่อย และก็โชคดีมหันต์ที่มีผู้เขียน ผู้วิเคราะห์แนะและนำความเข้าใจเหมือนจูงมือเราให้เข้าไปนั่งเรียน Music appreciation ต้องบอกว่าเราไม่ใช่นักดนตรี (musician) ไม่ได้เป็นนักดุริยางค์ศาสตร์ (musicologist), ไม่มีความรู้เรื่องโน้ตดนตรีเรื่องคีย์บอร์ดใดๆ (เคยเรียนก็ลืมหมดแล้ว),  มีแต่ความสนใจกระตือรือร้นอยากรู้, ใช้เวลาติดตามอ่านหาข้อมูลอยู่นานทีเดียว. พบว่าบทวิจารณ์จากนักดุริยางค์ศาสตร์ชาวฝรั่งเศส พูด (สอนเรา) ได้ตรงตามความกระหายอยากรู้ของเรามากกว่าของผู้ใดชาติใด, จึงรวบรวมเรียบเรียงมาให้อ่านกัน,จากบทวิเคราะห์วิจารณ์ต่างๆที่ปรากฏในอินเตอเน็ต. นี่เป็นครั้งแรก เป็นเรื่องแรกที่ลงทุนลงแรงค้นหาเพื่อให้ตัวเองเข้าใจ, มากกว่าความสนใจฟังสนุกๆให้เพราะๆหู.  ผู้ที่สนใจเหมือนกัน ก็จะได้ฟังโอเปร่าชุดนี้ได้อย่างเจาะลึกและก็จะไม่มีวันเบื่อเลย. ตอนท้ายได้ให้ที่อยู่เน็ตที่สามารถเปิดไปฟังได้อย่างเต็มที่ตามวันเวลาที่เหมาะกับตน.  

เจาะลึกมนต์ขลังเพลงขลุ่ยของโมสาร์ท - Die Zauberflöte / The Magic Flute

เนื้อเรื่องของ The Magic Flute มาจากเทพตำนานหลายเรื่องที่ Christoph Martin Wieland รวบรวมเรียบเรียงขึ้นใหม่. เนื้อเรื่องคล้ายๆกันนี้ปรากฏเล่นในโอเปร่าชื่ออื่นมาแล้วสามสี่ปี  ก่อนที่โมสาร์ทจะนำมาประพันธ์ดนตรีใหม่. นักดุริยางค์ศาสตร์ชาวฝรั่งเศส (Alain Patrick Olivier) กล่าวไว้ว่าเรื่อง The Magic Flute เป็นผลงานของผู้ร่วมคิด ร่วมทำหลายคน เป็นผลงานของกลุ่มคนสนิทชิดเชื้อที่มีอุดมการณ์ทางจิตวิญญาณเดียวกัน, ชี้ไปถึงมาตรการหลักที่เป็นพื้นฐานและรากเหง้าของการสถาปนากลุ่มสมาชิก Freemason ในยุโรป[1] นั่นคือการร่วมมือ ช่วยกันสร้างสรรค์งานชิ้นหนึ่งเพื่อให้บรรลุผลสำเร็จ โดยที่เป้าหมายสุดท้าย คือการพัฒนา ยกระดับและกระชับวิญญาณสำนึกของผู้ร่วมงาน ร่วมอุดมการณ์ ร่วมสถาบัน.  

      เขากล่าวต่อไปว่า ในยุคของโมสาร์ทนั้น ยังคิดกันไปไม่ถึงเรื่องอัจฉริยภาพของเอกบุคคล เพราะผลงานใดมักเป็นผลจากการทำงานร่วมมือกันจากหลายคนหรือหลายกลุ่ม. โมสาร์ทเองได้ร่วมในการเรียบเรียงบทละครเรื่อง The Magic Flute  และ Schikaneder (ผู้ประพันธ์เนื้อเรื่องและคำร้องสำหรับการแสดง ที่ปัจจุบันทุกคนตกลงยอมรับให้เขาเป็นผู้ประพันธ์อย่างเป็นทางการ) ก็อาจได้ประพันธ์ทำนองดนตรีหลายตอนในเรื่องนี้ เช่น ดนตรีประกอบบทร้องคู่ระหว่าง Papageno และ Papagena.  เมื่อโมสาร์ทตายไปแล้ว ยังมีผู้อ้างว่าเป็นเจ้าของเนื้อหาทั้งหมด หรือมีผู้ระบุว่า Benedikt Schack ผู้แสดงบทเป็นเจ้าชาย Tamino ในยุคของโมสาร์ทนั้น เป็นทั้งนักเล่นขลุ่ยและนักประพันธ์ดนตรี จึงเป็นไปได้ว่าเขาเองเป็นผู้เล่นขลุ่ยบนเวทีและเพราะความสามารถของเขาในเพลงขลุ่ย อาจมีส่วนทำให้โมสาร์ทเลือกขลุ่ยเป็นกุญแจของเรื่อง. 

           เมื่อแต่ง The Magic Flute ยังไม่เสร็จดี โมสาร์ทได้เดินทางไปกรุงปร้าก (Prag) ไปเป็นเกียรติในการแสดงโอเปร่าอิตาเลียนเรื่อง La Clemenza di Tito (The Clemency of Titus) ที่เขาเป็นผู้ประพันธ์ดนตรีประกอบ และกลับมาแต่ง The Magic Flute ต่อจนจบในเดือนกันยายน. เขายังเป็นผู้ควบคุมการฝึกซ้อม รวมทั้งเป็นผู้กำกับการแสดงรอบปฐมทัศน์ในวันที่ 30 กันยายน 1791 และกำกับการแสดงครั้งที่สองด้วย ทั้งยังไปร่วมดูการแสดงอีกหลายครั้งตลอดเดือนตุลาคมก่อนถึงแก่กรรมในวันที่ 5 ธันวาคมปีเดียวกันนั้น. การแสดงโอเปร่าเรื่องนี้ยังคงมีต่อมา, มีบันทึกระบุว่าจนถึงเดือนพฤศจิกายนปีถัดมา (1792) โอเปร่าเรื่องนี้แสดงไปแล้วหนึ่งร้อยครั้ง. 

         จักรพรรดิ Joseph II ทรงอนุมัติให้มีโรงละครของชุมชนได้ โดยให้เสนอละครจากวรรณกรรมเยอรมัน. Emanuel Schikaneder นักประพันธ์ดนตรีและเจ้าของโรงละคร Theater auf der Wieden ในกรุงเวียนนา, เป็นผู้คุ้นเคยใกล้ชิดกับโมสาร์ท. เขาเสนอให้โมสาร์ทแต่งละครเพลงเป็นภาษาเยอรมัน (ในภาษาเยอรมันใช้คำเรียกว่า Singspiel คือบทละครที่มีบทพูดและบทร้องสลับกัน ตรงกับคำ Musical ที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน).  ยุคนั้นละครเพลงกำลังเป็นที่นิยมกันมากในหมู่ชนทุกชั้น โดยเฉพาะเมื่อคำพูดและเนื้อร้องเป็นภาษาเยอรมันที่ทุกคนเข้าใจ, มิใช่ภาษาอิตาเลียนที่ชนชั้นสูงเท่านั้นที่เข้าใจ. โรงละครของ Schikaneder หาได้เป็นโรงละครประเภทชั้นสองไม่,  เจ้าของได้อาศัยเท็คนิคใหม่ๆติดตั้งอุปกรณ์ที่ทำให้จัดฉาก สลับฉากและสร้างระบบแสงเสียงพิเศษประกอบเนื้อหาละครได้อย่างวิเศษ, เป็นที่ตื่นตาตื่นใจผู้ชม. โมสาร์ทได้เข้าร่วมด้วยในกระบวนการสร้างสรรค์และจัดฉากเพื่อเพิ่มความตื่นเต้น ความสนุกสนานและความทึ่งแก่ผู้ชม.  ความโดดเด่นของโอเปร่าเรื่องนี้ จึงอยู่ที่การดำเนินเรื่องที่ฟังดูผิวเผินเป็นเทพตำนานเรื่องหนึ่งที่ตลกขบขัน (บทบาทของ Papageno) และบทรุกเร้าใจ (เช่นความพยาบาทของราชินีแห่งรัตติกาล หรือเรื่องการฟันฝ่าอุปสรรค). แต่ทั้งดนตรีและฉากมีสัญลักษณ์ที่นำผู้มีปัญญาให้เข้าถึงนัยลึกซึ้งของอุดมการณ์ Freemasonry.  

         เหตุการณ์ที่ปะทุขึ้นในยุคนั้นที่เขย่าขวัญราชสำนักทุกแห่งในยุโรป คือ การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789. ราชสำนักต่างหวั่นเกรงกลัวภัยจากการลุกฮือของมวลมหาชน, กลัวว่ากระแสการตื่นตัวสู่ “ยุคของแสงสว่างนำปัญญา” จักพาพวกเขาไปสู่กีโยตินดังที่เกิดขึ้นในฝรั่งเศส, จึงไม่ค่อยชอบให้ชาวเมืองไปชุมนุมกัน. พวกเจ้าครองเมืองทั้งหลายในเยอรมนี ต่างระมัดระวัง, ใช้นโยบายเอื้ออาทร แล้วหวนกลับมาใช้นโยบายกดขี่บังคับสลับกันไปตามสภาพการณ์. องค์การศาสนาเองก็เฝ้าติดตามสถานการณ์อยู่ห่างๆ, มิได้แสดงตัวอย่างเปิดเผย ว่าต่อต้านการเปลี่ยนแปลงในสังคม และต่อต้านการรวมตัวกันเป็นสมาคม Freemasonry อย่างเฉพาะเจาะจง, จนถึงปี 1738 ที่มีประกาศออกมาจากสำนักสันตปาปาอย่างชัดเจน แต่ก็ยังไม่เข้มงวดนัก. อาจเป็นเพราะเหตุนี้ด้วย ที่สมาชิก Freemasons ทั้งหลายต้องประชุมพบปะกันอย่างลับๆ เพื่อความปลอดภัยและมีการสร้างระบบสัญลักษณ์สื่อสารและเข้าในกันภายในหมู่สมาชิก.

        โมสาร์ทเป็น Freemason คนหนึ่งที่ได้ซึมซับอุดมการณ์สุนทรีย์และปรัชญาสังคม ที่เขาจะสื่อสารด้วยดนตรี ด้วยแนวการประพันธ์ของเขาในแบบที่ไม่เคยมีนักประพันธ์ดนตรีทำมาก่อน และผลักขีดความสามารถของดนตรี ออกไปจากกรอบของขนบที่มีในยุคนั้น. ได้เปิดภูมิทัศน์กว้างไกลของดนตรี ให้คนรุ่นหลังได้เห็นความเป็นไปได้อีกหลายช่องทางในการประพันธ์ดนตรี, ในการใช้เครื่องดนตรีประเภทต่างๆ, ในการผลักขีดความสามารถของเสียงคน ขึ้นไปอยู่ในระดับสูงสุดๆที่เสียงคนจะไปถึงได้เป็นต้น. โอเปร่าเรื่องนี้โดนใจ Goethe มาก, เขากล่าวว่า สามัญชนทั่วไปรับรู้และสนุกสนานกับเนื้อหาผิวตามที่เห็นและฟังจากการแสดง, แต่สำหรับผู้มีปัญญาหลักแหลม (สมาชิก Freemasons) รับรู้และประทับใจกับนัยแฝงอื่นๆได้จากดนตรีและสัญลักษณ์ต่างๆที่ประกอบอยู่ในฉากละคร. Goethe ได้ส่งเสริมให้จัดแสดงเรื่องนี้ 94 ครั้งที่เมือง Weimar (Goethe, 1749-1832, เป็นกวี นักประพันธ์และรัฐบุรุษชาวเยอรมัน. ใช้ชีวิตส่วนใหญ่ที่เมืองนี้  เป็นหัวหน้าผู้กำกับโรงละครของเมืองนี้ด้วย)   

        โมสาร์ทเติบโตในบริบทของลัทธิคาทอลิก ตั้งแต่วัยเจ็ดขวบ เขาเดินทางบ่อยมากกับบิดา ผู้พาเขาไปโชว์ตัวเรื่องดนตรีในราชสำนักทุกแห่งในยุโรป, ด้วยความหวังว่าลูกชายจะได้เป็นนักดนตรีประจำราชสำนักและพัฒนาฝีมือและความชำนาญด้านดนตรีและการประพันธ์ดนตรี. ราชสำนักของจักรพรรดิ Joseph II ได้มอบหมายให้เขาทำหน้าที่ประพันธ์ดนตรีเพื่อความบันเทิงของพระองค์และเหล่าข้าราชบริพาร, แต่ยิ่งทีพระองค์ยิ่งไม่สบอารมณ์จนทำให้ชีวิตต้องตกอับขาดคนอุปถัมภ์อย่างจริงจัง. ทั้งนี้เพราะโมสาร์ทแต่งละครเน้นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก (ในเรื่อง Die Entführung aus dem Serail – การลักพาตัวจากฮาเร็ม ในภาษาอังกฤษใช้ชื่อว่า The Abduction from the Seraglio ) หรือเน้นความเสมอภาคของคนจากชนชั้นต่างกัน (ในเรื่อง Le nozze di Figaro - การแต่งงานของฟีกาโร  หรือ The Marriage of Figaro). พอมาถึงเรื่อง The Magic Flute  นัยของอุดมการณ์แห่งภราดรภาพจึงถูกแทรกไว้อย่างละมุนละม่อมไม่แห่ไม่โหมกันอย่างเอิกเกริกเกินไป, ผู้มีปัญญาเท่านั้นที่จะจับสารได้.  

      โครงสร้างของโอเปร่าเรื่องนี้ ประกอบด้วย บทโหมโรง (Ouverture) ซึ่งตามขนบการประพันธ์ จักเป็นส่วนที่เข้มข้น, เป็นบทสรุปของเนื้อเรื่องทั้งหมด. เฉกเช่นการแต่งหนังสือ บทนำเรื่องมักเป็นบทสุดท้ายที่ผู้แต่งเรียบเรียงหลังจากที่แต่งเรื่องจบลงแล้ว. ในการประพันธ์ดนตรีก็เช่นกัน, ทำนอง จังหวะ การเลือกใช้ระดับหรือกลุ่มเสียง ล้วนโยงไปถึงเนื้อหาภายในเรื่อง (มีผู้วิเคราะห์การประพันธ์บทโหมโรงนี้ไว้อย่างละเอียด แต่ข้าพเจ้ามิอาจนำมาถ่ายทอดได้ เพราะขาดทักษะด้านเทคนิคการอ่านการเข้าใจโน้ตดนตรี จึงขอให้ไปศึกษาตามอ่านดูกันเอง. โปรดดูที่ Laurent Remise ในเว็บนี้.) 

         เนื้อเรื่องแบ่งออกเป็นสององก์ องก์ที่หนึ่งมีแปดฉากและองก์ที่สองมีสิบสามฉากติดต่อกันไป.  เป็นบทร้องเดี่ยว (arias), บทร้องคู่ (duo), บทร้องสามเสียง (trios), บทร้องห้าเสียง (quintette) ที่บางทีมีกลุ่มนักร้องประสานเสียงเข้าร่วมด้วย (choir) และมีบทพูดบทเจรจาแทรกเข้าเมื่อจบบทร้อง. ในองก์ที่สอง ขบวนนักบวชที่เข้ามาในฉาก ไม่มีบทร้องประกอบ มีแต่ดนตรีที่ทำหน้าที่คล้ายๆเป็นบทโหมโรง-ouverture ขององก์ที่สอง. ส่วนบทจบของแต่ละองก์ รวมตัวละครทั้งหมดที่ปรากฏตัวแล้วในแต่ละฉาก. เนื้อหาของเรื่องที่สรุป(อย่างยาว)มาไว้ที่นี่แล้วดังนี้ 

องก์ที่หนึ่ง 

เจ้าชาย Tamino [ตะมี้โน] เดินหลงไปในดินแดนที่ไม่รู้จัก, เผชิญหน้ากับงูยักษ์ ตกใจจนสิ้นสติ. มีสตรีสามนางมาช่วยไว้. ทั้งสามเป็นนางกำนัลใน ราชินีแห่งรัตติกาล (Queen of the Night). ต่างหลงใหลชื่นชมความงามของเจ้าชายผู้นอนสลบไสลอยู่  (และร้องเพลงสรรเสริญ), ตัดสินใจกันว่าต้องนำเรื่องไปแจ้งแก่ราชินีแห่งรัตติกาล แต่เกี่ยงกันเพราะต่างอยากเป็นคนอยู่เฝ้าเจ้าชาย. ไม่มีใครยอมใคร ในที่สุดต้องไปด้วยกันทั้งหมด. เมื่อเจ้าชายตื่นขึ้นมา เห็นศพงูยักษ์ คิดว่าฝันไป หรือต้องมีใครมาช่วยชีวิตไว้. เขาได้ยินเสียงขลุ่ยล่องลอยมา (ขลุ่ยที่ได้ยินนี้เป็นเสียงจากขลุ่ยขนาดเล็ก มีห้าเสียง เรียกกันว่า ขลุ่ยของเทพแพน PanFaunenflötchen). เขาจึงแฝงตัวในพุ่มไม้ แอบมองว่าเป็นใคร. เห็นพรานนก Papageno [ปาปะกี้โน] จึงออกมาถามไถ่. Papageno โมเมว่าตนเป็นผู้ฆ่างูยักษ์ตัวนั้น. สตรีสามนางกลับมาปรากฎตัวในทันใดและลงโทษ Papageno ฐานที่พูดโกหก ด้วยการให้ดื่มน้ำแทนไวน์, ให้กินก้อนหินแทนก้อนขนมปังที่พวกนางเคยให้ (Papageno เคยจับนกมาแลกกับไวน์และขนมปัง),  แถมยังเอากุญแจทองมาล็อคปาก มิให้เขาพูดอีกต่อไป. สตรีทั้งสามเปิดตัว ว่าพวกนางได้ช่วยชีวิตเขาไว้, แล้วเล่าเรื่องเศร้าเกี่ยวกับ Pamina [ปามี้น่า] ลูกสาวของราชินีแห่งรัตติกาลให้เจ้าชายฟัง พร้อมทั้งให้ดูภาพเหมือนของนาง. เจ้าชายตกหลุมรักสตรีในภาพและเคลิบเคลิ้มฝันหวานว่าจะมีความสุขกับ Pamina. สตรีทั้งสามเล่าต่อว่า ตอนนี้ Pamina ถูกลักพาตัวไปขังไว้. เจ้าชายพูดทันทีว่าตนจะไปช่วยปลดปล่อยนาง. ตอนนั้นราชินีแห่งรัตติกาลมาปรากฏตัว, มาพร้อมกับเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่า. ราชินีเล่าคร่ำครวญเสียอกเสียใจที่ลูกสาวถูกพรากไปจากอก (บทร้องตอนนี้คือ O zittre nicht, mein lieber Sohn)  และบอกเจ้าชายว่าหากช่วยลูกสาวออกมาได้ ก็จะยกลูกสาวให้เขาเป็นคู่ชีวิตตลอดไป. พูดจบก็หายวับไป. เจ้าชายได้แต่ครุ่นคิดถามตนเอง ว่านี่เรื่องจริงใช่ไหม, เขาไม่ได้ถูกหลอกใช่ไหม. ส่วน  Papageno เดินสะเปะสะปะไปมา, เสียใจที่พูดไม่ได้(เพราะปากถูกล็อกกุญแจ). สตรีสามนางมาปรากฏตัวอีก, ปลดตัวกุญแจออกจากปากและบังคับให้ Papageno สัญญา ว่าต่อไปนี้จะไม่พูดปด. สตรีทั้งสามได้มอบเครื่องดนตรีที่ราชินีแห่งรัตติกาลส่งมาให้แก่เจ้าชายและแก่ Papageno.  เจ้าชายได้ขลุ่ยวิเศษส่วน Papageno ได้ระฆังวิเศษ และบอกว่าเครื่องดนตรีทั้งสองชิ้นนี้ จะช่วยให้เขาทั้งสองเอาชนะความลำบากต่างๆที่คอยอยู่ข้างหน้า. ทั้งสองออกเดินทางตามหา Pamina ลูกสาวราชินีแห่งรัตติกาลทันที. ต่างคนต่างไปคนละทาง.

       ในวังของ Sarastro [ซารัสโตร] ที่ Pamina ถูกกักขังอยู่นั้น, มีแขกมัวร์ผู้รับใช้ Sarastro ชื่อ Monostatos [โมโนซฺตาโตซฺ] พยายามอย่างไม่ลดละที่จะรวบตัว Pamina ไว้สำหรับตนเอง. ขณะวิ่งไล่วิ่งหนีกันอยู่นั้น, Papageno โผล่เข้าไปในวง, เผชิญหน้ากับแขกมัวร์อย่างจัง. ต่างฝ่ายต่างตกใจ คิดว่าเป็นปีศาจเป็นเจ้าบาดาลมาปรากฏตัว. ด้วยความกลัว แขกมัวร์วิ่งหนีเตลิดไป. Papageno จึงเล่าให้ Pamina ฟังว่า มีเจ้าชายคนหนึ่งกำลังตามหานาง เพื่อจะมาปลดปล่อยนางจากที่ขัง และเจ้าชายคนนั้น ก็หลงรักนางทันทีที่ได้ยลภาพเหมือนของนาง. Pamina ขอบอกขอบใจ Papageno และถามไถ่เกี่ยวกับชีวิตเขา. พรานนกบอกว่าตัวเองเศร้าสร้อย เพราะยังไม่พบหญิงคนรัก (ที่พรานนกเรียกชื่อว่า Papagena โดยเปลี่ยนชื่อของเขาเองเป็นเพศหญิง ลงท้ายด้วยเสียง อา). ทั้ง Pamina และ Papageno ร่วมร้องเพลงประสานเสียง, สรรเสริญความรัก ในทำนองว่า คนที่มีความรัก ย่อมเป็นคนดี มีเมตตาและความยุติธรรม. แล้วพากันหนีต่อไปให้พ้นการติดตามของแขกมัวร์.

      ในระหว่างนั้น  มี จินี สามคน (genie ที่ไทยแปลไว้ว่าปีศาจในเทพตำนานอาหรับ. คำปีศาจฟังดูน่ากลัวกว่า ภาพลักษณ์และความหมายของ genie ซึ่งอาจมีรูปร่างใหญ่หรือเล็กผิดมนุษย์ แต่มักไม่มีความโหดร้ายแฝงอยู่, ไม่เหมือนคำ ปีศาจ ในภาษาไทย ที่มีนัยไปในทางเลวร้ายเป็นส่วนใหญ่. ในการแสดงโอเปร่าเรื่องขลุ่ยวิเศษ ส่วนใหญ่ จินี สามคนในเรื่อง มักเป็นเด็กผู้ชาย และเลือกคนที่มีเสียงโซปราโนมาแสดงด้วย) มานำทางเจ้าชาย Tamino ไปยังวิหารสามแห่ง. วิหารที่หนึ่งคือวิหารแห่งปัญญา, วิหารที่สองคือวิหารแห่งเหตุผล, และวิหารแห่งธรรมชาติเป็นวิหารที่สาม. จินีเตือนให้เจ้าชายยึดมั่นในความตั้งใจที่จะทำดี (คือการมาช่วยปลดปล่อย Pamina), ให้มีความอดทนอดกลั้นและรู้จักวางตัวให้ถูกกาละเทศะ.  เจ้าชายไปเคาะประตูวิหารสองแห่งแรก แต่ไม่มีใครเปิดประตูรับเขาเข้าไป. ก่อนจะไปเคาะประตูวิหารที่สาม, มีนักบวชผู้หนึ่งมาปรากฏตัว(พร้อมเหล่านักบวชอื่นๆ) และเล่าให้เจ้าชายฟังว่า Sarastro ผู้ออกคำสั่งให้พรากตัว Pamina มาจากราชินีแห่งรัตติกาลนั้น, มิได้เป็นปีศาจแต่เป็นคนที่เปี่ยมด้วยคุณธรรม. เจ้าชายค่อนจะเชื่อนักบวชผู้นั้น เพราะท่าทีอันสง่าสุขุมของเขา และอยากตั้งคำถาม ถามนักบวชให้หายข้องใจ. เขารู้สึกสับสนอยู่ในอก, ได้เป่าขลุ่ยวิเศษและร้องเพลงไปกับเสียงขลุ่ย. ในตอนนั้น ปรากฏว่าฝูงสัตว์ร้ายในป่าในถ้ำ พากันมาล้อมรอบตัวเจ้าชาย, มาหมอบอยู่แทบเท้าเจ้าชาย เพราะต้องมนต์ขลังของเพลงขลุ่ย. สัตว์ร้ายทั้งหลายเหมือนถูกสะกดจนกลายเป็นสัตว์ที่อ่อนโยนไปหมด. สรรพสัตว์ออกจากป่าดงพงไพร ตอบรับเพลงขลุ่ย. เขาได้ยินเสียงขลุ่ยเล็กๆห้าเสียงของ Papageno ที่ตอบรับเพลงขลุ่ยของเขาด้วย, แต่ไม่มีสัญญาณใดๆจาก Pamina. เจ้าชายพยายามหาทางไปพบ Papageno และ Pamina. ส่วนทั้งคู่ก็พยายามหาทางไปเจอเจ้าชาย. แต่กลับไปตกอยู่ในวงของ Monostatos ข้ารับใช้ที่เป็นแขกมัวร์ ที่สั่งให้คนของเขาจับทั้งคู่มัดไว้. ในตอนนั้นเองที่ Papageno นึกขึ้นมาได้ ว่าตนเองมีระฆังวิเศษ.ได้ใช้เสียงระฆังสยบแขกมัวร์และบริวารของเขาทั้งหมด ที่พอได้ยินเสียงระฆังก็พากันเต้นรำร้องเพลงกันอึงมี่ ก่อนจะหายวับไป (เข้าฉากไป). ความเงียบเข้าคลุมพื้นที่ แล้วทันใดนั้น ก็มีเสียงแตรดังก้องกังวาน, Sarastro มาปรากฏตัวพร้อมขบวนนักบวช.  Papageno ตัวสั่นงันงก, ถาม Pamina ว่าเขาควรจะพูดอย่างไร (เพื่อเอาตัวรอด).  Pamina บอกให้เขาพูดความจริง แม้ต้องตกระกำลำบากก็ต้องพูดความจริง. นางเองก็ตัดสินใจเช่นนั้น, คุกเข่าเบื้องหน้า Sarastro และสารภาพว่า ที่นางต้องหนีก็เพื่อหนีจากแขกมัวร์ Monostatos ผู้ตามลวนลามเธอ. แขกมัวร์มาถึงพอดี, ได้ลากตัวเจ้าชาย Tamino ที่เขาจับได้มาด้วย. ทันทีที่เจ้าชายและ Pamina เห็นกัน ก็วิ่งเข้าสู่อ้อมแขนของกันและกัน, ต่อหน้าแขกมัวร์และคณะนักบวช. แขกมัวร์เข้าไปขวางและแยกทั้งสองออกจากกัน และคุยอวดความดีของตนต่อหน้า Sarastro ว่าเขาสิควรได้รับการตอบแทน, แต่ Sarastro กลับสั่งให้นำตัว Monostatos ไปโบย 77 ครั้ง (เลข 7 เลขสำคัญในระบบสัญลักษณ์มาแต่โบราณ) และออกคำสั่งให้พาทั้งเจ้าชายและ Pamina ไปที่วิหารเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ตัว ว่าเป็นคนดี เข้มแข็งเพียงพอไหม ก่อนเข้าไปในวิหารของสมาชิก.

องก์ที่สอง

Sarastro ประกาศแก่คณะนักบวชว่า เทพเจ้าทั้งหลายได้ตัดสินว่า Tamino และ Pamina สมควรเป็นคู่ชีวิตกัน แต่ทั้งสองรวมทั้ง Papageno ต้องพิสูจน์ตัวเองก่อนด้วยการผ่านบททดสอบต่างๆ ก่อนที่จะเข้าไปภายในของวิหารแห่งแสงสว่าง ที่เขาทั้งสอง จะได้รู้และเข้าใจอุบายอันเลวร้ายของราชีนีแห่งรัตติกาล.  Sarastro ทำพิธีบูชาเทพ Isis และเทพ Osiris (ในตำนานเทพอีจิปต์) เพื่อขอให้เทพทั้งสองประทานพละกำลังแก่ Tamino และ Pamina และมีชัยชนะจากการพิสูจน์ตัวเอง.

       คณะนักบวชซักไซ้เกี่ยวกับความปรารถนาในใจของทั้งสอง. Tamino มีอุดมการณ์สูง, ส่วน Papageno บอกว่า เขาเพียงต้องการความสุขสนุกจากชีวิตและอยากมีอิสตรีมาเคียงข้าง (เป็นการวางตัวละครสองตัวที่ตรงข้ามกัน ให้มาเผชิญกัน). บทพิสูจน์ตัวเองบทแรกคือ การค้นหาความจริง, ความจริงที่ไม่ตาย, ความจริงที่เป็นอกาลิโก. คณะนักบวชสั่งให้ทั้งสองเก็บวาจา, ห้ามพูดอะไรทั้งสิ้น ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น แล้วทิ้งพวกเขาไว้ตามลำพัง. ตอนนั้นเองที่สตรีสามนางกลับมาปรากฏตัว ไม่ว่านางจะพูดจะทำอะไร, Tamino ก็ไม่ตอบ, ไม่มีปฏิกิริยาใดๆจนนางต้องถอยหายวับไป. ส่วน Papageno อดพูดกับนางทั้งสามคนไม่ได้ จึงตกบทพิสูจน์บทที่หนึ่ง.  คณะนักบวชมาปรากฏตัวและสรรเสริญความอดทนอดกลั้นของ Tamino และดุ Papageno ที่อ่อนแอเกินไป.

      ระหว่างนี้ Pamina ไปนอนคร่ำครวญเสียใจอยู่ในสวน. เจ้าแขกมัวร์ Monostatos ยังไม่ละความพยายามที่จะเอาชนะนาง, แต่ราชินีแห่งรัตติกาลมาปรากฏตัวพร้อมเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่า. Monostatos ตกใจรีบหนีเอาตัวรอด. ในฉากนี้เองที่ราชินีแห่งรัตติกาลมอบกริชด้ามหนึ่งให้ลูกสาว และสั่งให้นางฆ่า Sarastro หากนางไม่ทำตาม ก็จะถูกตัดลูกตัดแม่กัน (บทร้องตอนนี้ของ ราชินีแห่งรัตติกาล คือบท « Der Hölle Rache kocht in meinem Herzen » ที่โดดเด่นที่สุดในเรื่องนี้ และที่โมสาร์ทได้ผลักขีดความสามารถในการไต่เต้าระดับเสียงขึ้นไปสูงที่สุดที่ยังไม่เคยมีผู้ใดเคยร้องหรือประพันธ์มาก่อน).  เมื่อสั่งจบก็จากไป.  Monostatos หวนกลับมาใหม่และพยายามล่อให้ Pamina ร้องเพลง, แต่ Sarastro มาปรากฏตัวและสั่งให้เจ้าแขกมัวร์ไปให้พ้นๆ. เจ้าแขกมัวร์ตัดสินใจหนีไปเข้าฝ่ายราชินีแห่งรัตติกาล.  Sarastro ประกาศว่าจะคิดบัญชีกับราชินีแห่งรัตติกาลอย่างแน่นอน.

       คณะนักบวชยังคงสั่งให้ Tamino และ Papageno เก็บวาจาต่อไป. บทพิสูจน์ยังมิได้เสร็จสิ้น, Papageno ทำตามไม่ได้อีก. เขาโต้ตอบซักถามหญิงชราผู้หนึ่งที่มาปรากฏตัวตรงหน้าและมาล่อหลอกรุกเร้าเขา. เมื่อพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า เขายังเก็บวาจาไม่ได้, หญิงชรานั้นหายตัวไป. Papageno ยังไม่รู้ชื่อเสียงเรียงนามของเธอ. ด้าน Tamino เห็น Pamina เดินข้าไปหาเขา, นางไม่รู้ว่า Tamino ถูกสั่งให้เก็บวาจา. เธอคร่ำครวญพูดกับเขา แต่ Tamino ก็ไม่ตอบไม่มีปฏิกิริยาใดๆ. Pamina เสียใจมากและคิดว่าเขาสิ้นรักเธอแล้ว จึงผละจากเขาไป.

       เช่นนี้ เจ้าชายจึงผ่านบทพิสูจน์นี้ได้อีก. คณะนักบวชมาปรากฏตัวและบอกว่าเขาจะได้รับการพิจารณาให้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคม. Sarastro เตรียมบทพิสูจน์บทสุดท้าย. เขาให้นำตัว Pamina ที่ถูกปิดตาไปใกล้ๆ Tamino โดยบอกเธอว่าจะให้เขาร่ำลาเธอเป็นครั้งสุดท้าย, เป็นแผนการของ Sarastro ผู้คิดจะปลอบโยน Pamina, แต่เธอกำลังโศกสลดด้วยคิดว่า Tamino สิ้นรักเธอแล้ว จึงไม่สนใจไยดีที่จะพบเขา. ส่วน Papageno ได้รับความเห็นใจจากนักบวช ผู้พยายามปูทางให้เขา ด้วยการให้เขาขออะไรก็ได้หนึ่งอย่าง. Papageno ขอไวน์มาดื่ม แต่ฉุกคิดได้ว่า สิ่งที่เขาต้องการมากกว่า คือเพื่อนคู่กาย จึงได้ร้องเพลงพรรณนาความในใจของเขาสลับรับกับเสียงระฆังวิเศษ. หญิงชราคนเดิมมาปรากฏตัวและขู่จะทำร้ายเขาหากเขาปฏิเสธที่จะแต่งงานกับเธอ. Papageno ยืนยันรับคำว่าจะซื่อสัตย์ต่อเธอเท่านั้น. ทันใดนั้น หญิงชรากลายร่างเป็นสาวสวย, แต่นักบวชผู้หนึ่งมาแยกเธอออกไปก่อน, บอกว่า Papageno ยังมิได้พิสูจน์ตัว ว่ามีความดีเพียงพอที่จะได้เธอไปครอง.

      ฉากต่อมา จินี (genie ในร่างของเด็กผู้ชายสามคน) ประกาศก้องในสวนว่า โลกมาถึงยุคใหม่แล้ว จักเป็นยุคแห่งแสงสว่างและความรัก. จินี เห็น Pamina หลบเข้าไปในสวนพร้อมกริชในมือและคิดจะฆ่าตัวตายด้วยความตรอมใจในรัก.  พวกจินี ได้เข้าห้ามปรามไว้และปลอบเธอว่า Tamino ยังรักเธออยู่เสมอ.

      แต่คณะนักบวชยังคงคุมตัว Tamino เพื่อพิสูจน์ตัวเองในขั้นสุดท้าย  คือต้องผ่านบทพิสูจน์ไฟและน้ำ. ตอนนั้น Pamina ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมกับ Tamino, นางเข้าใจเหตุการณ์ทั้งหมดแล้ว. ทั้งคู่ร่วมใจกันฟันฝ่าอุปสรรคจนผ่านพ้นออกมาได้(ด้วยอำนาจของเพลงขลุ่ย) (ฉากฝ่าอุปสรรคนั้นสั้นๆ ส่วนใหญ่มิได้ยืดเยื้อหรือเจาะจงรายละเอียด). Sarastro แสดงความปลื้มปิติที่ทั้งสองเอาชนะไฟและน้ำมาได้. ฝ่าย Papageno เมื่อสัญญาจะแต่งงานกับหญิงชราที่กลายเป็นสาวสวยแล้วหายตัวไป, จึงออกติดตาม ด้วยความเสียใจว่าพลาดอีกแล้ว, คิดจะผูกคอตาย. แต่ จินี มาช่วยไว้และแนะให้เขาใช้ระฆังวิเศษเรียกตัว Papagena สาวสวยผู้นั้นมาหาเขา. ในที่สุดทั้งคู่ได้พบและโอภาปราศรัยกันอย่างมีความสุข.    

     Monostatos แอบแฝงตัวมากับความมืด เขาพาราชินีแห่งรัตติกาลและนางกำนัลสามนางมายังวิหาร ด้วยความหวังสุดท้าย ว่าจะสามารถล่อหลอกและฆ่า Sarastro, แต่ช้าไปเสียแล้ว แสงสว่างจ้ากระจายไปทั่วท้องฟ้า. ราชินีแห่งรัตติกาลและนางกำนัล สลายตัวถูกกลืนเข้าไปในความมืดมิดชั่วนิจนิรันดร์. ในวิหารแห่งแสงสว่าง Sarastro และคณะนักบวชทั้งหมด ร้องเพลงสรรเสริญสมาชิกใหม่ คือ Tamino และPamina และสดุดีพลังของจิตวิญญาณ ควางามและสติปัญญา (บทสดุดีตอนจบนี้คือบท Stärke, Schönheit, Weisheit)

บทวิเคราะห์ แนวการประพันธ์ ที่แยกเป็นประเด็นๆตามตัวอย่างข้างล่างนี้.

เนื้อหาซ้อนในเนื้อหาผิว  คือการต่อสู้ระหว่างแสงสว่างกับความมืด(ของราตรีกาล), เหมือนความคาดหวังในสิ่งดีๆกับการหลอกลวง. ส่วนความรักที่ตัวละครได้สัมผัสเป็นสัญลักษณ์ของความดี ที่มีชัยในที่สุด.

       การเลือกใช้ขลุ่ยอย่างเฉพาะเจาะจงในเรื่อง ก็เพราะขลุ่ยเป็นสัญลักษณ์ของลม.  Pamina ได้บอกแก่ Tamino ว่า ขลุ่ยนี้พ่อเธอเป็นคนประดิษฐ์ ทำขึ้นในสายฝนที่ตกกระหน่ำ (สัญลักษณ์น้ำ) ท่ามกลางเสียงฟ้าผ่า (สัญลักษณ์ของดิน) และสายฟ้าแลบ (สัญลักษณ์ของไฟ).  มนต์ขลังของขลุ่ย อยู่ที่ขลุ่ยอันนั้นรวมอานุภาพของธาตุสี่เข้าไว้ในตัวมัน. ส่วนขลุ่ยห้าเสียงของแพนที่ Papageno แขวนไว้ติดคอ เน้นความจำกัดของการแสดงออก, เหมือนชีวิตในวงจำกัดของพรานนก ผู้ไม่สนใจสิ่งอื่นใดนอกจากการเสพกามสุข.

     การจัดอันดับตัวละครเด่นๆ เป็นไปเพื่อเสริมและตอบรับกับตัวละครอื่น ดังนี้

ดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์  Sarastro เป็นสัญลักษณ์ถาวรของคน, ของความดี. เป็นผู้ไม่มีกิเลสตัณหา, เขาเป็นผู้เฝ้าอาณาจักรของจิตวิญญาณ, ผู้เก็บรักษาความลับ(ของศาสตร์และศิลป์ต่างๆ) ที่เขาคนเดียวเป็นผู้ตัดสิน ว่าควรจะถ่ายทอดให้ใครคนไหน,   ทำหน้าที่เป็นหัวหน้านักบวช สืบต่อจากบิดาของ Pamina ผู้ล่วงลับไป ผู้เคยเป็นเจ้าผู้ใหญ่ในอาณาจักรนี้. ดวงอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์ของเขา, ศาสดาพยากรณ์ Zoroaster[2] เป็นต้นแบบของตัวละครที่ชื่อ Sarastro. 

      ส่วนราชินีแห่งรัตติกาล เป็นภาพลักษณ์ของการดื้อรั้นแข็งขืนของมวลสตรี, ของจุดอ่อนต่างๆของคนเช่นความอิจฉา, ความหยิ่งผยองหรือความเคียดแค้น. ดังประโยคหนึ่งในบทร้องของนางตอนหนึ่งที่ว่า ความแค้นทั้งมวลในนรกเดือดปุดๆอยู่ในกระแสเลือดของข้า เสียงร้องของเธอ (แบบ coloratura) ก้องกังวานอย่างมีสีสันและลวดลายชวนให้คนฟังเคลิ้มตามและหลงเชื่อ. โมสาร์ทเน้นให้เห็นว่า ความอ่อนแอของคน มักมีตัวช่วยหลากหลาย ที่นำไปสู่การลงมือกระทำการ(ไม่ดี)อย่างรั้งไม่อยู่. ถึงกระนั้นการที่ราชินีแห่งรัตติกาล ยอมมอบขลุ่ยวิเศษให้ Tamino  สื่อการเป็นทวิภาคของความชั่วกับความดี. อาณาจักรรัตติกาลของนาง แท้จริงมิได้เป็นคู่ปรปักษ์ แต่เป็นส่วนเสริมที่ขาดไม่ได้ของอาณาจักรแห่งแสงสว่าง. ชื่อของราชินีก็บอกให้เดาได้ว่า ดวงจันทร์เป็นสัญลักษณ์ของนาง. เช่นเดียวกัน นางกำนัลสามคนของราชินีแห่งรัตติกาล ให้ความรู้สึกว่าโหลงเหลงไร้แก่นสาร, แต่ในที่สุดทั้งสามมีปฏิกิริยาตอบโต้ต่อสถานการณ์ตามเหตุตามผลไม่น้อยเลย. 

ไฟกับน้ำ  Tamino ต้องหาผู้มาเป็นคู่ ที่จักเป็นคู่ที่สมบูรณ์ที่สุด. ด้วยความรักเขาจะสามารถผ่านบทพิสูจน์คุณค่าของตนเองได้. เขาเป็นสัญลักษณ์ของไฟ และเป็นผู้เล่นขลุ่ยวิเศษที่เป็นสัญลักษณ์ของลม. ส่วน Pamina เป็นผู้มาเสริม Tamino ให้ครบเต็ม ในฐานะที่เป็นตัวกลจักรที่นำไปสู่การเข้ามีส่วนร่วมในกระบวนการพิสูจน์ตัวเอง, ก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นสมาชิกในวิหาร (ซึ่งหมายถึงสมาคมอันสูงส่งเฉกเช่น Freemasonry), เท่ากับว่านางได้ย้ายจากโลกของความมืด (ในฐานะลูกสาวของราชินีแห่งรัตติกาล และโลกของ “การไม่รู้หรือเบาปัญญา”), จากโลกที่มืดมน มาสู่โลกของแสงสว่าง, สู่โลกของ Sarastro โดยอาศัยความรักและการมีส่วนเข้าร่วมในบทพิสูจน์เคียงข้าง Tamino. นางเป็นสัญลักษณ์ของน้ำ. เสียงเท็นเนอร์ (tenor) ของTamino กับเสียงโซปราโน่ของ Pamina ต้องเลือกอย่างเหมาะสม, ต้องให้ทั้งใสและสว่าง, สมมาตรกับความคิดและอุดมการณ์ของตัวละครทั้งคู่.

ลมกับดิน  Papageno เป็นรูปแบบของสามัญชนที่มีความตั้งใจดีอยู่ แต่ขาดความกล้า(เสี่ยง) และขาดสติปัญญา, คือไม่มีอุดมการณ์ที่อยู่เหนือชีวิตตามแนววัตถุนิยม ซึ่งตรงกับชีวิตส่วนใหญ่ของสามัญชนในโลกนี้และของผู้ชมโดยทั่วไป, จึงเป็นเหมือนตัวแทนของทั้งความจริงใจกับการพูดปด, ถึงกระนั้นก็ยังป็นผู้มีมโนสำนึกที่ดี ที่ถามตนเอง ว่าอะไรคือปัญหาที่แท้จริงของคน. คณะนักบวชเห็นว่าเขายังไม่ดีพอ ยังไม่คู่ควรที่จะได้เป็นสมาชิกของวิหาร. เดิมทีเป็นพรานนกจับนกให้ราชินีแห่งรัตติกาล แต่เมื่อถูกสั่งให้เดินทางไปกับ Tamino เท่ากับได้รับโอกาสให้เขาก้าวข้ามจากแดนแห่งรัตติกาลสู่แดนแห่งทิวากาล. บทบาทของเขาในเรื่อง มีความสำคัญไม่น้อยที่ทำให้ Tamino ยิ่งตระหนักชัดเจนถึงการต้องเอาชนะข้อพิสูจน์ต่างๆให้ได้. Papageno เป็นสัญลักษณ์ของลม. ชื่อ Papageno และ Papagena มาจากคำเยอรมัน Papagei ที่แปลว่า นกแก้ว (parrot ในภาษาอังกฤษ และ perroquet ในภาษาฝรั่งเศส) และนี่อธิบายว่าทำไมสองคนนี้จึงสวมชุดที่มีขนนกสีๆประดับ (บางทีเพื่อความสะดวก Papageno สวมหมวกที่มีนกแก้วประดับเพื่อสื่อความหมายของชื่อและอาชีพของเขา).  

      ส่วน Monostatos แขกมัวร์ ผู้เป็นชายคนเดียวในอาณาจักรรัตติกาล (หลังจากที่ทรยศและหันไปเข้าฝ่ายราชินีแห่งรัตติกาล), เขาจึงมีเส้นทางเดินที่สวนกับ Papageno. ผิวคล้ำของแขกมัวร์ เน้นความหมายตามขนบในสมัยนั้นว่าแขกมัวร์ทำหน้าที่เป็นยามเฝ้าพวกทาส (ซึ่งเป็นพวกผิวสีคล้ำ). ความคล้ำของผิว ยังโยงไปถึงความดำของดิน, เขาจึงเป็นสัญลักษณ์ของดิน.

     จินี เด็กชายสามคนเป็นดั่งเสาหลักของปัญญาผู้รู้จักสร้างสรรค์, ของอำนาจผู้ปฏิบัติการ และของความงามที่ประดับโลก, ทั้งยังเป็นผู้ไต่สวนที่คอยสังเกตหรืออ่านจิตใจของผู้ที่อยากเข้าเป็นสมาชิกของวิหารแห่งแสงสว่าง. บทบาทของจินีหยุดอยู่แค่ธรณีประตูของวิหาร. เสียงใสบริสุทธิ์ของเด็กชายทั้งสามนำทาง Tamino พาเขาไปบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยอุปสรรคและอันตราย และเตือนให้ Tamino เข้มแข็งและยึดมั่นในความตั้งใจที่น่าสรรเสริญ.

       นักบวชสองคนในชุดนักรบที่มาปรากฏสองข้าง Tamino นั้น เป็นผู้อาวุโสของวิหาร, ทำหน้าที่ดูแลและปกป้องความลับต่างๆของวิหาร. ส่วนคณะนักบวชที่ปรากฏตัวเป็นหมู่บนเวที สื่อความเป็นหนึ่งเดียวในอุดมการณ์ของสมาคมฯ. เช่นนี้สมาคมฯจึงเป็นภาพลักษณ์ของความยุติธรรมและความสมดุลบรรณสาน ควบไปกับเสรีภาพ, ความเสมอภาคและภราดรภาพ.

        เมื่อพินิจพิเคราะห์ตามประเด็นดังกล่าวมาข้างต้น จะเห็นว่า การดำเนินเรื่องไม่ง่ายดั่งละครตลกหรือละครตำนานทั่วไป แต่มีทั้งการใช้กระบวนการเล่าตามขนบคลาซสิกและกระบวนการพิเศษอื่นๆที่เพิ่มเข้าไป. เช่น งูยักษ์ที่ปรากฏตัวตั้งแต่เริ่มต้นเรื่อง สื่อความกลัวที่ซ่อนอยู่ในส่วนลึกของใจคน, Tamino เห็นงูยักษ์แล้วสลบไป. ร่างที่ไร้สติสัมปชัญญะ คือภาพของการตายของคนที่ไร้อุดมการณ์ล้ำลึก ก่อนจะฟื้นเข้าสู่ชีวิตของจิตวิญญาณ. งูที่ตายไปก็บอกเล่าการตายของสิ่งยั่วยวนสารพัดในชีวิตคน และเพราะมี “การตาย” จึงทำให้ Tamino ได้ “เกิดใหม่”, มองเห็นเส้นทางสู่วิหาร และมุ่งหน้าไปที่นั่น. เป็นการเดินทางเพื่อค้นหาตัวตนและชำระล้างตนก่อนจะได้รับเข้าสู่วิหารสู่แสงสว่าง.

         กรณีที่ราชินีแห่งรัตติกาล ผู้เป็นภาพลักษณ์ของอำนาจ กลับไปขอความช่วยเหลือจากคนที่ไม่มีแม้อาวุธใดๆติดตัว และนางเองเป็นผู้ให้เครื่องมือที่นำเจ้าชายสู่ความสำเร็จ (คือการเป็นคนรู้คิด รู้ผิดชอบชั่วดี) และต่อมาเป็นผู้สยบนาง. เท่ากับว่าเจ้าชายได้หลุดจากสภาพของผู้รับใช้(ราชินีฯ) มาเป็นคนอิสระที่ต่อสู้เพื่อให้ตัวตนแท้ๆของเขาเองเป็นที่ยอมรับ. 

        ประเด็นของ Tamino กับ Pamina หญิงคนรักที่ผ่านพ้นอุปสรรค เอาชนะบททดสอบของเหล่านักบวช เท่ากับได้เรียนรู้จักการควบคุมตนเอง (เช่น การข่มความรู้สึกภายในเป็นต้น).  เช่นนี้จึงทำให้ทั้งสองสามารถเอาชนะโลก, ความรัก, เกียรติยศฯลฯ, ในขณะที่ชายหญิงอีกคู่หนึ่ง (Papageno & Papagena)ไม่เป็นเช่นนั้น จึงสอบตกบทพิสูจน์. 

         ปราชญ์ Sarastro สอน Tamino ให้มุ่งใฝ่หาแสงสว่างและปัญญา จนในที่สุดสามารถทำให้โลกกลับคืนสู่ดุลยภาพดังเดิม ดังในยุคที่พ่อของ Pamina (สามีของราชินีแห่งรัตติกาล) ครองโลกอยู่ ก่อนที่จะถ่ายทอดอำนาจไปให้แก่ Sarastro. ราชินีแห่งรัตติกาลจึงแค้นใจนัก ที่โลกมิได้อยู่ในอำนาจของนางคนเดียวดังที่นางหวังไว้. 

        โอเปร่าเรื่องนี้ เป็นเหมือนการปฏิวัติในวงการละคร. ตั้งแต่ต้นเรื่อง ทุกอย่างเป็นความสับสนอลหม่าน และดิ้นรนต่อสู้กับราชินีแห่งรัตติกาล กับ Sarastro.  และเมื่อ Tamino กับ Pamina ได้เข้าร่วมบทพิสูจน์พร้อมกัน, พลังและความเป็นผู้ดีของหนุ่มสาว ช่วยกันทำให้เอาชนะอุปสรรคและผ่านบททดสอบได้สำเร็จ. ความงามและปัญญา จึงโดดเด่น, เป็นความงามความดีที่ไม่มีวันสูญสลาย. โลกกลับเป็นอาณาจักรดุจสวรรค์, เป็นปึกแผ่น, สรรพชีวิตมีสง่าราศีดั่งเทพเจ้าบนฟ้า.

        โมสาร์ทเป็น Freemason คนหนึ่ง, Schikaneder ก็เคยเป็นสมาชิกผู้หนึ่ง. ทั้งสองได้นำธรรมเนียมการรับสมาชิกใหม่เข้ากลุ่ม Freemasonry มาใช้ในเรื่อง The Magic Flute.  คือฉากเนื้อเรื่องที่เกี่ยวกับการทดสอบและพิสูจน์ตนของ Tamino และ Pamina ก่อนจะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในวิหารของ Sarastro, คำสั่งให้เก็บวาจาก็เป็นข้อบังคับภายในสมาคม Freemasonry, ว่าเขาต้องไม่พูดไม่เอ่ยปากบอกใครสิ่งที่ได้เห็น ได้ยินจากการประชุมการชุมนุมของเหล่าสมาชิกของสมาคมฯ.  ส่วนการปิดตาให้มองอะไรไม่เห็น เน้นความไม่รู้ประสีประสา และเมื่อผ้าผูกตาถูกถอดออกไปแล้ว, Tanimo และ Pamina ได้เห็นแสงสว่าง พร้อมๆกับความปลื้มปิติที่เขาเริ่มเข้าใจความจริง, ค้นพบสภาพแวดล้อม, ค้นพบตนเอง, และค้นพบความสัมพันธ์ระหว่างตนเองกับสภาพแวดล้อมใหม่นั้น. ทั้งสองเข้าใจและเข้าถึงความหมายของอุดมการณ์อันล้ำลึกของวิหาร (นั่นคือการเข้าใจอุดมการณ์ของสมาคม Freemasonry).

         นักดุริยางค์ศาสตร์ชาวฝรั่งเศสอีกผู้หนึ่ง ชื่อ Jacques Chailley ได้วิเคราะห์หาข้อเปรียบเทียบที่เขาโยงไปถึงสมาคม Freemasonry ได้อีกมากจากตัวดนตรีแท้ๆที่โมสาร์ทประพันธ์ขึ้น. เช่นจังหวะ การเว้นจังหวะ การย้อนกลับไปใช้กลุ่มโน้ตกลุ่มหนึ่งซ้ำ, เว้นแล้วซ้ำอีกสามครั้ง, หรือการเลือกคีย์ดนตรีเสียงใดเป็นหลักในดนตรีตอนหนึ่ง, ทำให้นักดุริยางค์ศาสตร์ สามารถแกะความตั้งใจในการประพันธ์ของโมสาร์ทได้, ว่าต้องการสื่อความเข้มข้นของอารมณ์ใดเป็นสำคัญในช่วงนั้น เป็นต้น. นั่นคือเหนือสิ่งอื่นใด เหนือเนื้อหาธรรมดาๆของเทพนิยาย  คือคุณภาพของดนตรีของโมสาร์ท.  เขาโยงไปถึงเทพสามองค์อันมี Osiris (เทพเจ้าอีจิปต์ มีกายสีเขียวสัญลักษณ์ของการเกิดใหม่, ของชีวิตที่ไม่สิ้นสุด, เป็นกษัตริย์และตุลาการของผู้ตาย), Isis (เทพสตรีในระบบศาสนาของอีจิปต์ มีเขาวัวและจานกลมของดวงอาทิตย์เป็นสัญลักษณ์ประดับบนศีรษะ เป็นเทพแห่งมนต์ขลัง, แห่งสติปัญญา, เป็นผู้ให้ชีวิต, ผู้เยียวยารักษาและผู้ชำนาญในทุกสิ่ง) และ Horus (เทพเจ้าอีจิปต์, ศีรษะเป็นเหยี่ยว, เป็นสุริยะเทพ). เทพเจ้าทั้งสาม เป็นผู้ผดุงค้ำจุนความสมดุลและความเป็นปึกแผ่นของโลก[3]  

       

นักดุริยางค์ศาสตร์ต่างลงความเห็นว่า โมสาร์ทตัดสินใจประพันธ์ดนตรีและแกะรอยความลึกลับในโลกโบราณ ที่หมายรวมถึงศาสตร์ว่าด้วย อัลเคมี ด้วย. โมสาร์ทได้แทรกไว้เป็นนัยแฝงอยู่เบื้องหลังบทประพันธ์ดนตรีประกอบโอเปร่าสามเรื่องของเขามาแล้ว คือเรื่อง Le nozze di Figaro, Don Giovanni และ Cosi fan Tutte [4].  เข้าใจกันว่าโมสาร์ทเห็นว่า ศาสนาอีจิปต์โบราณ สำคัญและจำเป็นในการธำรงสันติภาพในโลก. เขาต้องการเน้นความสำคัญและบทบาทของสตรี ที่สังคมยุคนั้นไม่ใส่ใจและเย้ยหยัน. ในกรณีของเรื่อง The Magic Flute นับว่าเป็นการท้าทายขนบธรรมเนียมของยุคนั้นอย่างยิ่ง ที่โมสาร์ทได้รวม Pamina เข้ากับ Tamino ในกระบวนการพิสูจน์คุณค่าของตนเอง ต่อหน้าคณะนักบวช. โมสาร์ทและ Schikaneder ได้ให้โอกาสแก่ Pamina ให้นางพิสูจน์คุณค่าของตนเองว่ามีสติปัญญาเสมอกับผู้ชาย, มีความตั้งใจแน่วแน่, รู้จักตัดสินใจ, มีความกล้าทั้งใจและกายที่จะสู้กับอุปสรรค, และในที่สุดสามารถเรียนรู้ศาสตร์ ศิลป์ สั่งสมคุณงามความดีได้, เพิ่มคุณสมบัติอื่นๆให้กับความงามของนาง ที่มิใช่เพื่อใช้หลอกล่อผู้ชาย แต่เป็นภาพลักษณ์ของความงามของจิตใจด้วยเป็นต้น. สองร้อยกว่าปีผ่านไป สตรีมีบทบาทมากขึ้นก็จริง แต่สังคมยังคงมิได้ชัดเจนนักในเรื่องนี้ และคนก็เลี่ยงๆการนำมาถกมาแก้ปัญหาอย่างจริงจัง.

        ยังมีอีกตอนหนึ่งก่อนฉากสุดท้ายในองก์ที่สอง ที่ดนตรีของโมสาร์ทได้แทรกบทร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าของมาร์ติน ลูเธอร์ [5] ที่มีใจความเน้นความสำคัญของธาตุสี่ (ดิน น้ำ ลม ไฟ) ในการชำระล้างจิตใจให้บริสุทธิ์ เพื่อรับการถ่ายทอดความรู้และ/หรือความจริงที่ไม่รู้ตาย. 

ดูเวทีของเรื่อง The Magic Flute ที่เมือง Bregenz  เห็นชัดเจนว่า ธรรมชาติเป็นประเด็นสำคัญ.  รูปลักษณ์ของสัตว์ประหลาดทั้งสาม จะว่าเป็นการถ่ายทอดภาพลักษณ์ของเทพเจ้าอีจิปต์ ก็ไม่ค่อยตรงนัก เพราะทุกตัวมีเขาด้วยกันแม้จะคนละรูปทรง. เวทีบนหลังเต่าหรือมังกรทะเล ยังพอโยงไปถึงตำนานโบราณของโลกที่ว่าโลกตั้งอยู่บนหลังเต่าตัวมหึมา (ผู้สร้างเวทีมิได้อธิบายไว้)

นักดุริยางค์ศาสตร์คนหนึ่ง (Laurent Remise) กล่าวว่า สามัญชนทั่วไป เชื่อว่าเรื่อง The Magic Flute เป็นตำนานนิทานจากตะวันออก(อีจิปต์) และชื่นชมการจักฉาก, เปลี่ยนฉาก, ความอลังการของฉาก, ความหรูหราและมีสีสันของเครื่องแต่งกายของตัวละคร, มีสัตว์บนเวทีร้องรำทำเพลง, มีนางฟ้าลงมาจากสวรรค์, มีการจัดแสงเสียงพิเศษสมจริงทั้งฟ้าแลบและฟ้าผ่า, มุกตลกต่างๆและเรื่องที่จบลงด้วยดี แบบคู่รักมีความสุข. ถ้าดูกันเพียงประเด็นเหล่านี้ เรื่องนี้ก็ไม่ผิดเรื่องตำนานเทพอื่นๆ ที่การเชื่อมเนื้อหา บางทีก็ไม่กลมกลืนกันนัก, แต่ความโดดเด่นด้านดนตรีของ The Magic Flute ได้กู้ชีวิตเรื่องนี้ไว้ และถูกยกระดับขึ้นไปอยู่บนบันไดสูงสุดในประวัติศาสตร์ดนตรีของโลก  ที่ทำให้สองร้อยกว่าปีที่ผ่านมา ยังคงมีการเล่นโอเปร่าชุดนี้อย่างต่อเนื่อง. ผู้คนไม่เคยเบื่อดูเบื่อฟังกันเลย และเป็นโอเปร่าที่เล่นกันมากที่สุดเสมอมา, เป็นที่ชื่นชอบอย่างไม่เสื่อมคลาย.  

         ลัทธิความเชื่อโบราณแต่ละลัทธิมักมีจุดยืนอยู่ที่การสดุดีและการเทิดทูนธรรมชาติเหนือสิ่งอื่นใด, ดังที่เราเข้าใจกันมากขึ้นๆแล้วว่า ไม่มีใครหรืออะไรเอาชนะธรรมชาติได้ และสำเหนียกมากขึ้นๆแล้วเหมือนกันว่า ธรรมชาติเป็นผู้ให้, ผู้เกื้อกูลสรรพชีวิตบนโลกอย่างต่อเนื่อง, ธรรมชาติเป็นหนังสือ, เป็นคัมภีร์เล่มใหญ่ที่สอนคนเสมอมา, ธรรมชาติคือธรมมะ, เป็นหลักถาวรและไม่คลอนแคลนของทุกศาสนา. การที่วิหารแห่งธรรมชาติ เปิดรับ Tamino และ Pamina เข้าไปในตอนจบ, แสงที่ส่องสว่างไปทั่วจากทั้งภายในสู่ภายนอกของวิหารที่สาม, เป็นแสงจากดวงอาทิตย์ ที่ควบนัยของความสว่างแห่งจิตวิญญาณ, จึงคือกุญแจดอกสำคัญของการบรรลุศาสตร์, ศิลป์, คุณธรรมและความรัก, เพราะในความสว่างของจิตใจ เกิดปัญญา, สติสัมปะชัญญะ, ทำให้รู้คิด รู้วิเคราะห์, ทำให้เห็นความจริง, นำไปสู่ความยุติธรรมในจิตใจ และด้วยการกล่อมเกลาจากธรรมชาติ ทำให้คนเกิดความเอื้อเฟื้อ, สร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดี, สันติสุขก็จักบังเกิดขึ้นในโลก.

-------------------------------------------------------------------------------

มาถึงจุดนี้ เมื่อไรที่มีเวลาสักสองสามชั่วโมง เชิญเข้าไปฟังโอเปร่าชุดนี้  จากเน็ตที่นำมาเสนอ ดังข้อมูลนี้ >>

*** http://www.youtube.com/watch?v=MP-o-hBTelI

The Magic Flute music by Wolfgang Amadeus Mozart, Libretto by Emanuel Schikaneder, preformed at the Royal Opera House, Covent Garden with the Orchestra of the Royal Opera House, Concert Master : Vasko Vassilev, Conductor : Colin Davis. With the Royal Opera Chorus, Chorus Director : Terry Edwards. 

ดีมากเป็นพิเศษสำหรับการฟังเพื่อการเรียนรู้ เพราะมีบทบรรยายภาษาอังกฤษตลอดเรื่อง. คำร้องเป็นภาษาเยอรมันตามต้นฉบับของ Emanuel Schikaneder (ดังที่ได้เล่าไว้ข้างต้น และใช้ในการแสดงรอบปฐมทัศน์เดือนกันยายนปี 1791 และยังใช้ต่อกันมา)  

*** หรือเข้าไปดูจากลิงค์นี้ >>  http://www.youtube.com/watch?v=H5rETN9GFwA 

ของคณะ Wiener Philharmoniker มี Riccardo Mutti เป็นวาทยากร (maestro หรือ conductor) แสดงที่เมือง Salzburg ในปี 2006  เพื่อเปรียบเทียบกระบวนการจัดฉากเป็นต้น

*** ตอนสั้นๆที่เป็นจุดสุดยอดในโอเปร่าชุดนี้ คือบทขับร้องเดี่ยว (aria) ของ ราชินีแห่งรัตติกาล ผู้เกรี้ยวกราด ข่มขู่ลูกสาวให้ทำตามสิ่งที่ตนต้องการ, สร้างปมของความขัดแย้งในใจของ Pamina. ฟังเสียงสุดยอดของตอนนี้ได้ที่ http://www.youtube.com/watch?v=C2ODfuMMyss 

(ขับร้องโดย Diana Damrau)  

โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ รวบรวมเรียบเรียงเพื่อการเรียนรู้และความบันเทิงใจ

ณวันที่ ๑๙ สิงหาคม ๒๕๕๗.


[1]  Freemasonry คำนี้เริ่มมาจากอาชีพของคนแกะสลักหิน อันเป็นอาชีพหลักในงานก่อสร้างทุกชนิดตั้งแต่สมัยโบราณมา. เป็นผู้ที่มีความรู้ความชำนาญของสถาปนิก, ของงานอิฐงานปูน และงานวิศวกรรมทั้งหมดรวมกันในตัวผู้เดียว. เช่นนี้ทำให้เขาสามารถมองเห็นภาพรวมของสิ่งก่อสร้างและจัดวางแผนผังและขั้นตอนในการก่อสร้างทีละขั้นทีละตอนไปอย่างเป็นระบบและมีระเบียบ,  และเพื่อรักษาความรู้และเคล็ดลับต่างๆของคนกลุ่มนี้ไว้, จึงรวมตัวกันเป็นสมาคม เพื่อปกป้องคุ้มครองวิถีการทำงาน, ความคิดและการเผยแพร่สืบทอดความรู้. ผู้ที่จะเข้าเป็นสมาชิกได้ ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือกอย่างเข้มงวดและลึกลับ (โดยที่คนภายนอกไม่รู้ว่าที่ไหน ทำอะไรกันบ้าง).  สมาคม Freemasonry จึงถูกมองว่าเป็นสถาบันลับๆ มีอะไรซ่อนเงื่อน ที่อาจหมายถึงการกำจัดผู้บุกรุกเข้าไปล้วงความลับ. สมัยก่อนเหมือนสมัยนี้ มีการแอบเข้าไปโจรกรรมความรู้และเคล็ดลับต่างๆ. ต่อมานอกจากกลุ่มนายช่างฝีมือดีทั้งหลาย ยังได้รวมกลุ่มคนอื่นๆที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ทั้งนักคิด, นักปราชญ์, นักดนตรี, นักประพันธ์, นักวิทยาศาสตร์เป็นต้น. กล่าวโดยทั่วไปคือการปกป้องศาสตร์และศิลป์,  มีการจัดใช้ระบบเครื่องหมายและรูปลักษณ์ชนิดต่างๆเพื่อสื่อความหมายที่รู้กันเฉพาะในหมู่สมาชิกเท่านั้น. เครื่องหมายที่ตกทอดมาจากสมาคม Freemasonry นอดีต, ได้กลายเป็นหัวข้อศึกษาของคนยุคปัจจุบัน ด้วยความหวังจะเข้าถึงนัยลึกล้ำต่างๆที่อยู่เบื้องหลังรูปลักษณ์ และได้เป็นหนึ่งในเนื้อหาของภาพยนต์ก็มี เช่นเรื่อง Da Vinci Code เป็นต้น. อย่าลืมว่าจนถึงต้นศตวรรษที่ 18 เท่านั้นที่มีการร่างกฎหมายคุ้มครองลิขสิทธิ์กันขึ้น ที่ก็ได้เปลี่ยนแปลงปรับปรุงและขยายขอบข่ายของกฎหมายนี้ให้รัดกุมและมีประสิทธิผลบังคับมากขึ้นในทุกวงการตามวิวัฒนาการสังคม. ในยุคของโมสาร์ท ทันทีที่โมสาร์ทประพันธ์ทำนองดนตรีใหม่ๆที่ผิดแปลกออกไป ก็มีคนนำไปคัดลอกเสมอ.

        ประวัติของการจดลิขสิทธิ์นั้นเริ่มขึ้นเมื่อ Gutenberg ประดิษฐ์ตัวอักษรพิมพ์ที่สามารถเปลี่ยนและโยกย้ายที่ไปมาได้ บนแท่นพิมพ์ ในปี 1436 และนำไปสู่วิวัฒนาการการพิมพ์หนังสือครั้งแรกสุด, หนังสือที่พิมพ์ออกมารุ่นแรก มีจำนวนไม่มาก. เมื่อ Gutenberg ค้นพบเทคนิคใหม่ ก็พากันจัดตั้งโรงพิมพ์, พิมพ์หนังสือที่เคยมี, ออกขายหารายได้ใส่ตัว ซึ่งเท่ากับเป็นการโจรกรรมเนื้อหาและหนังสือ, ทำให้ต้องคิดปกป้องสิทธิของผู้เขียนและผู้พิมพ์หนังสือ, เพื่อกำจัดการโจรกรรมดังกล่าว.   กฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับแรกจึงเกี่ยวกับการเขียนและการพิมพ์ ที่ออกมาในประเทศอังกฤษ เป็นแห่งแรกในปี 1710. ดูรายละเอียดได้ที่นี่.  

        จนถึงปัจจุบัน การโจรกรรมงานเขียนของผู้อื่น ก็ยังแอบทำกันอยู่เสมอในสังคมเรา. นิสัยอันหลากหลายของคนเคยมีมาอย่างไร, ก็ยังคงมีเชนนั้น, ไม่ว่ากี่พันปีจะผ่านไป. เช่นนี้เองที่ทำให้คำสอนต่างๆไม่ว่าในศาสนาใด จึงเป็นคำสอน เป็นธรรมะที่ “อกาลิโก”. พระท่านก็ยังต้องเทศนาเรื่องเดิมๆกันเช่นนั้น, เตือนกันทุกๆวัน.  ความสุขความทุกข์ของมนุษย์ เกิดจากอะไร ก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง, ไม่มีอะไรใหม่ในโลกของจิตวิญญาณ, วนไปวนมาเป็นกงเกวียนกำเกวียนที่ไม่หยุดนิ่ง. 

[2] Zoroaster เป็น prophet หรือศาสดาพยากรณ์ชาวอิหร่านโบราณ. เกิดในราวปี 628 ก่อนคริสตกาล, เป็นผู้ก่อตั้งลัทธิ Zoroastrianism ที่ยกระดับความดีขึ้นสูงเหนือความชั่วแบบต่างๆ. ปรัชญาของลัทธินี้ มีอิทธิพลต่อการสถาปนาลัทธิจูเดอิสซึม, ศาสนาคริสต์, อิสลาม, และลัทธิอื่นๆอีก.

[3] ภูมิหลังของชาวตะวันตกเกี่ยวกับอารยธรรมอีจิปต์โบราณ ฝังแน่นในขนบการเรียนการสอนของชาวยุโรป. การโยงไปถึงเทพองค์ต่างๆนั้น, เราคนไทยคิดตามไปไม่ถึง. ผู้เรียนดุริยางค์ศาสตร์จากตะวันตก จึงอาจต้องมีพื้นความรู้วัฒนธรรมอันหลากหลายที่ชาวยุโรป รับเข้าไว้เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของภูมิปัญญาพื้นฐานมาจนถึงปัจจุบัน. ข้าพเจ้าเคยเห็นของเล่นหรือเครื่องเล่นเด็กในสวนสาธารณะ, นำสัญลักษณ์และรูปลักษณ์อีจิปต์เข้าไปใช้, เหมือนให้เด็กๆคุ้นเคยกับรูปลักษณ์เหล่านั้น. และเคยเห็นแม่นั่งอ่านเทพตำนานอีจิปต์ ให้ลูกเล็กฟังบนรถไฟ, รวมทั้งหนังสือ, แผ่นภาพที่ทำขนาดไพ่ป๊อก, ให้เด็กเล่นและค่อยๆซึมซับจำชื่อเทพต่างๆ. ในศตวรรษที่ 18-19 ยิ่งเป็นระยะที่ยุโรปตื่นตัวกับอารยธรรมจากตะวันออกกลาง, โดยเฉพาะเมื่อนโปเลียน ยกกองทัพเรือออกไปสยบอีจิปต์(1798-1801) และตื่นตะลึงกับความมเหาฬารของปิรามิดฯลฯ, ได้ค้นพบความมหัศจรรย์ต่างๆที่ชาวยุโรปไม่เคยคาดคิดกันมาก่อน. หลังจากนั้นทั้งนักโบราณคดี, นักประวัติศาสตร์, นักเขียน ฯลฯ ต่างพากันไปอีจิปต์ และเริ่มศึกษากันอย่างจริงจัง (กลายเป็นแขนงวิชาสำคัญที่ตั้งชื่อว่า Egyptologie. ฝรั่งเศสและอังกฤษแข่งกันในการเข้าครองอีจิปต์). ไม่น่าสงสัยว่า โมสาร์ทก็มีความรู้เกี่ยวกับระบบศาสนาในอีจิปต์โบราณด้วยเช่นกัน และนี่เป็นข้อมูลที่ทำให้การจัดสร้างเวทีที่ Bregenz [เบร๊เก้นซฺ] ใช้ตัวสัตว์สามตัวตั้งสูงตระหง่าน แทนวิหารสามหลังที่เจ้าชายพยายามจะเข้าไป, อันมีวิหารแห่งปัญญา, วิหารแห่งเหตุผลและวิหารแห่งธรรมชาติ. ในที่สุดเจ้าชายสามารถเข้าไปในวิหารที่สาม หลังจากผ่านบทพิสูจน์ตนแล้ว.  ย้ำให้เข้าใจว่า ธรรมชาตินั้นยิ่งใหญ่และมีพลังกว่าสิ่งใด. แสงสว่าง(ดวงอาทิตย์) ผดุงโลกและคุ้มครองชีวิต. รวมกันเป็นความหมายอันลึกล้ำของเทพเจ้าอีจิปต์ทั้งสาม ที่นำมาแทรกในบทโอเปร่านี้.

[4] เนื้อหาของทั้งสามเรื่องเป็นภาษาอิตาเลียน. จนถึงยุคนั้น ในยุโรปเมื่อพูดถึงโอเปร่า เกือบทั้งหมด เป็นเรื่องราวที่แต่งขึ้นในอิตาลี  และชนชั้นสูงเท่านั้นที่เข้าใจเนื้อเรื่อง.  นี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่โมสาร์ท ต้องการให้มีโอเปร่าที่เป็นภาษาเยอรมันล้วนๆ, ให้มีงานดนตรีของเยอรมนีเอง.

[5] Martin Luther ได้ปฏิรูปศาสนาคริสต์กลางศตวรรษที่ 16 และต่อมาเกิดเป็นลัทธิโปรเตสแตนส์. บทร้องสรรเสริญพระเจ้าที่มีในเรื่อง The Magic Flute มีใจความว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า จากสวรรค์ชั้นฟ้าของพระองค์  โปรดมองดูพวกเรา... และ ผู้ใดย่างเท้าเดินไปบนเส้นทางที่เต็มไปด้วยความทุกข์ ผู้นั้นจักได้รับการชำระล้างให้บริสุทธิ์ผุดผ่องด้วยไฟ น้ำ ลมและดิน.  การประสานเสียงร้องในตอนดังกล่าว นักดุริยางค์ศาสตร์ เทียบว่าเป็นแบบเดียวกับดนตรีของ Johann Sebastian Bach.

1 comment: