Innsbruck as painted in
1494 by Albrecht Dürer
ชื่อเมือง Innsbruck
[อี๊นสบรูคฺ]
(จากคำว่า Inn-อีน ที่เป็นชื่อแม่น้ำที่ไหลผ่าน + bruck แปลว่า
สะพาน) เมืองนี้เป็นเหมือนทางเชื่อมระหว่างยุโรปเหนือกับใต้
ชาวโรมันมาตั้งเมืองในหุบแถบนี้ในคริสต์ศตวรรษที่ 4-5 ได้สร้างวัดอุทิศให้นักบุญลอเร็นต์ (St.Laurent
ชื่อที่นั่นว่า Sank Laurentius Stiftskirche) ส่วนของเมืองเก่าบนฝั่งขวาของแม่น้ำอีนนี้ปรากฏชื่อในเอกสารลายลักษณ์เก่าๆของท่านเคานต์บาวาเรียแห่งอันเดคส์ตั้งแต่ปี1180
(Bavarian Count of Andechs, cf. Ambras ปราสาทชานเมือง Innsbruck) ว่าเป็นเขตแลกเปลี่ยนธุรกิจการค้าเหมือนเป็นจุดชุมทางของยุโรป
ฝั่งเมืองเก่า ริมแม่น้ำอีน
หนึ่งในหลายสะพายที่ทอดเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำอีน นี่เป็นสะพานหลักที่เชื่อมตรงสู่กลางเมืองเก่า
ในวาระที่แม็กซีมีเลียนทรงสมรสครั้งที่สอง
(สี่ปีหลังจากที่ขึ้นเป็นกษัตริย์) กับ Maria Bianca
Sforza พระองค์ทรงโปรดให้สร้าง
Goldenes Dachl (The Golden Roof - หลังคาทอง
เป็นผลงานของสถาปนิกชื่อ Niklas Türing
the Elder, แล้วเสร็จในปี1500) อาคารที่มี “หลังคาทอง” นี้กลายเป็นสัญลักษณ์แรกของเมืองอินสบรูค
“หลังคาทอง”
ดังที่เห็นในภาพ มิใช่ทั้งหลังคาของอาคาร
เป็นเพียงส่วนที่ยื่นออกจากกำแพงของอาคาร
เหมือนระเบียง (เรียกในภาษาสถาปัตยกรรมว่า oriel
หรือ oriel window) ที่นี่พิเศษคือเป็น oriel สองชั้น สามารถออกไปยืนได้ oriel ในอาคารบ้านพักส่วนใหญ่ ทำเป็นที่นั่งพักผ่อน อ่านหนังสือ จิบน้ำชา ที่นั่นคงเหมือนหน้ามุกเล็กๆที่พระเจ้าแม็กซีมีเลียนเสด็จออกยืนชมเมืองและพบประชาชน
ลานกว้างตรงหน้าอาคาร
“หลังคาทอง” มักเป็นที่จัดกิจกรรม หรือ
ที่แสดงดนตรี เพราะถนนสายนี้ทั้งถนน
เป็นถนนคนเดิน ถนนไม่กว้างมาก
สองฝั่งมีร้านค้า ร้านอาหาร และโรงแรมเรียงรายกัน เป็นถนนคึกคักเสมอ
ตั้งแต่ที่นักท่องเที่ยวชาวเอเชียแห่กันไปเพราะเป็นทางผ่านไปยังเมือง Salzburg และอยู่ไม่ไกลจากเมืองมิวนิคในเยอรมนี
ให้สังเกตว่ามีประติมากรรมจำหลักนูนภายในกรอบสี่เหลี่ยมหกกรอบ
เรียงเป็นแถวแนวนอน มีสองแถว แถวบนเล่าเหตุการณ์งานฉลองมงคลสมรส
เป็นภาพชาวบ้านมารวมกัน มีการเล่นและการแสดง เฉพาะตรงกลางสองภาพ เป็นภาพของแม็กซีมีเลียนกับพระมเหสีทั้งสองพระองค์
โดยที่พระมเหสีองค์ที่หนึ่งอยู่ทางขวาเยื้องไปด้านหลัง (เพราะสิ้นพระชนม์แล้ว)
และพระมเหสีองค์ที่สองยืนติดแม็กซีมีเลียน
ส่วนประติมากรรมแถวล่างแสดงสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์หรือราชตระกูลที่มารวมเข้าอยู่ในอาณาจักรฮับสบูร์ก
พระมเหสีองค์แรก คือพระนาง Mary
of Burgandy (ชาวฝรั่งเศส) เป็นผู้ที่พระองค์รักใคร่มาก เสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุตกม้าขณะตั้งครรภ์ลูกคนที่สี่ นี่เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนการขึ้นครองราชย์ Mary of Burgandy ทำให้พระองค์มีสิทธิ์เหนือดินแดนของเบลเยี่ยมกับเนเธอแลนด์ รวมทั้งตอนเหนือของฝรั่งเศส(ในสมัยนั้น) ภาพจำหลักสองภาพนี้เจาะจงเหตุการณ์เฉลิมฉลองการสมรสระหว่างแม็กซีมีเลียนกับ
Maria Bianca Sforza แห่งมิลาน พระนางมีแอปเปิลทองในมือ
เพื่อพระราชทานเป็นรางวัลแก่ผู้ชนะการเต้นรำทำเพลงบนลานหน้าพระที่นั่ง บนลานหน้าอาคาร
“หลังคาทอง”
การสมรสครั้งนี้ทำให้แม็กซีมีเลียนกลายเป็นผู้มีสิทธิ์เหนือดินแดนตอนเหนือของอิตาลีด้วยโดยปริยาย ต่อมา Philip the Handsomeพระโอรสได้ทรงเษกสมรสกับเจ้าหญิง
Joanna of Castile (สเปน)
ก็ยิ่งทำให้อาณาจักรของราชวงศ์ฮับสบูร์กแผ่กว้างออกไปในตะวันตกของยุโรป
และยังต่อไปในโลกใหม่คือในอเมริกา เพราะสเปนได้เริ่มเดินเรือไปแล้ว.
ภาพขยายใหญ่แสดงประติมากรรมจำหลักนูนสูงที่ประดับเป็นด้านหน้าของสถาปัตยกรรม
“หลังคาทอง” สตรีด้านขวาสุดคือ มเหสีองค์แรก
พระนาง Mary of Burgandy ผู้สิ้นพระชมน์ก่อนพระนางยังเป็นคงเป็นที่รักในจิตใจของแม็กซีมีเลียน
แม้ว่า “หลังคาทอง” นี้สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองพระราชพิธีสมรสของพระองค์กับพระนาง
Maria Bianca Sforza มเหสีองค์ที่สองผู้มีผลแอปเปิลทองในมือ นายช่างได้คำนึงถึงความจริงในพระทัยของกษัตริย์แม็กซีมีเลียนดังกล่าว
และบรรจงสลักทั้งสองพระองค์เคียงข้างกัน
โดยที่พระมเสีคนแรกยืนไกลออกไปด้านข้าง
“ I want to become a king of the people” .
“ A fighting regency and a lasting remembrance is more worth
than money”. คำพูดของแม็กซีมีเลียนปูทางสู่นโยบายการเมืองอันชาญฉลาดของพระองค์ ได้ทรงสร้างจักรวรรดิฮับสบูร์ก ขยายดินแดนออกไปกว้างและไกล ทั้งทางทิศตะวันออกกับตะวันตก โดยไม่ต้องทำสงครามเลย ในฐานะกษัตริย์ผู้มีหน้าที่ต่อราชบัลลังก์ พระองค์ยึดนโยบาย Tu felix Austria nube (ในความหมายว่า ไหนๆจะต้องแต่งงานตามหน้าที่ ก็ต้องทำให้หน้าที่กลายเป็นการนำความสุขสู่ออสเตรีย คือการขยายอาณาเขตของแผ่นดินไปด้วย)
Wappenturm, a summary-image of
all the lands with 54 coats of arms representing different counties, royalties,
gained during the reign of Maximilian I. สมัยนั้นใครก็ตามที่จะผ่านเข้าเมืองนี้ต้องผ่านประตูนี้
ปัจจุบันประตูนี้ไม่มีแล้ว ภาพจิตรกรรมฝีมือของ Matthias Perathoner,1777.
ภาพนี้อยู่ที่ Tiroler Landesmuseum Ferdinandeum.
ตั้งแต่ยุคของแม็กซีมีเลียน เมืองนี้เป็นศูนย์ศิลปวิทยา เป็นศูนย์เหมืองเงินกับเหรียญเงิน
โดยเฉพาะเรื่องเหรียญเงินที่มีพระบรมฉายาลักษณ์บนเหรียญ ได้กลายเป็นสิ่งที่เผยแพร่และโฆษณาพระองค์ไปทั่วอาณาจักรฮับสบูร์ก
ยุคนั้นทุกคนอยากได้อยากเก็บเหรียญเงินนั้นเป็นสมบัติของตน เมืองนี้ยังผลิตเครื่องเกราะ(ทหาร)ที่มีคุณภาพเป็นเยี่ยมในยุโรป(ชาวอาหรับจะเอาอย่างด้วยและเริ่มทำเสื้อเกราะอย่างจริงจัง)
กับเครื่องเหล็ก(หลอม) ทุกชนิดเช่นปืนใหญ่กับระฆังใหญ่ๆ (ปัจจุบันยังเด่นในเรื่องอุปกรณ์การไต่เขา)
ปราสาท Schloss Ambras (ชานเมือง Innsbruck มีพิพิธภัณฑ์สรรพาวุธ ศูนย์รวมเกราะทุกแบบด้วย (Rüstkammer) น่าสนใจไปชม สวนโดยรอบก็ร่มรื่นมาก
ภาพนี้จากวิกิพีเดีย (ของตัวเอง ไม่รู้ไปเก็บใน drive อะไร) เจ้าของภาพชื่อ Pahu
ถ่ายไว้เมื่อสิงหาคม 2005 (เจาะจงว่าแชร์ให้ใช้)
ที่ตั้งอยู่บนเขาเหนือเมือง Innsbruck
อินสบรูค อยู่ในหุบเขา มีแนวเทือกเขาแอลป์ล้อมรอบ
สภาพภูมิประเทศสวยงามมีทั้งภูเขา แม่น้ำและป่าไม้
เป็นศูนย์กีฬาฤดูหนาวในสมัยใหม่ เคยเป็นเมืองเจ้าภาพจัดกีฬาโอลิมปิคฤดูหนาวในปี
1964 และปี 1976.
ในภาพบนนี้ไกลออกไปบนเนิน
เป็นที่ตั้งของศูนย์สกี อาคารสูงสร้างขึ้นสำหรับ
ski jump
อินสบรูคอยู่ไม่ไกลจากเมืองมิวนิคในเยอรมนี
นั่งรถไฟผ่านพรมแดนไม่ถึงสองชั่วโมง ได้ชมภูมิประเทศสองข้างทางที่มีหมู่บ้านชาวนา
ป่าไม้และทุ่งกว้าง เป็นเส้นทางที่ชาวยุโรปผ่านไปมา ชมความงามธรรมชาติของขุนเขาที่แตกต่างกันในแต่ละฤดู บนเขาสูงๆเหนือเมืองอินสบรูค ยังมีสวนสัตว์ที่รวมกวางพันธุ์ที่อยู่ในภูเขาแอลป์ไว้จำนวนมาก
นอกเหนือจากสัตว์แถบภูมิประเทศและภูมิอากาศแบบอัลไพน์ (ความรู้เรื่องสัตว์ป่าในแถบนี้แม็กซีมีเลียนยังได้บันทึกไว้เป็นอย่างดี
ทั้งยังระบุด้วยว่าควรล่าสัตว์อะไรเมื่อไร ทรงชอบออกป่าไปในภูเขาและล่าสัตว์ตั้งแต่วัยเยาว์
เคยบาดเจ็บสาหัสจากการล่าสัตว์ด้วยเช่นกัน)
มีรถรางไฟฟ้าเล็กๆพาขึ้นไปถึงยอดเขาที่ตั้งสวนสัตว์
และยังมีบริการอื่นที่พาต่อไปถึงยอดบางยอดของเทือกเขาแอลป์ สำหรับผู้อยากไปปีนเขาหรือไปหาเนินเขาลาดงามเพื่อเล่นสกี เมืองนี้จึงมีนักท่องเที่ยวมากเสมอทุกฤดูกาล
ชาวเมืองบอกว่าฤดูหนาว นักท่องเที่ยวหนาแน่นกว่าฤดูร้อนด้วยซ้ำ
เพราะนักสกีจำนวนมากไปที่นั่น ตึกรามบ้านช่องสวยงามตามศิลปะและสถาปัตยกรรมศตวรรษที่15-18
ที่ยังคงเด่นสง่าอยู่คู่เมือง กษัตริย์ ขุนนาง นักเขียน นักดนตรีและต่อมารัฐบุรุษมีชื่อทั้งหลายต่างเคยผ่านมาพักที่เมืองนี้
เดินไปในกลางเมืองเก่า จะเห็นป้ายบอกว่าใครเคยผ่านมาหยุดพักที่เมืองนี้ ภัตตาคาร โรงแรม หรือห้องภายในโรงแรมตั้งชื่อด้วยชื่อของแขกผู้มีเกียรติที่เคยมาพักในห้องนั้น.
เช่นห้องโมสาร์ต-Mozart ห้องเกอเธอ-Goethe หรือห้องแม็กซีมีเลียนเป็นต้น
ภาพที่นำมาลงข้างล่างนี้เป็นถนนสายสำคัญที่สุดของเมืองชื่อว่า
Maria-Theresien-Strasse มีรูปปั้นพระแม่มารีบนเสาสูงกับรูปปั้นนักบุญอีกสี่คนบนแท่นที่เป็นฐานของเสา
(St Anne, St Kassian, St Vigilius, St George). เฉพาะมาเดินชมสถาปัตยกรรมของอาคารบ้านช่องที่เมืองนี้ก็ให้ความยินดีคุ้มค่าเพียงพอ
(หากสนใจและรู้จักมอง! เคยได้ยินกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวอเมริกันที่เดินอยู่ข้างหลังบนถนนสายสุดงามนี้
ถามคนในกลุ่มว่า What exactly we are coming to see? ข้าพเจ้าหันไปดูหน้าคนพูด
สงสัยว่าตาบอดหรือไง?)
เนื่องจากเป็นถนนคนเดิน
หน้าร้อนก็กลายเป็นมุมทานอาหาร ดื่มกาแฟ หรือจิบเบียร์
ถนนสายที่ผ่านกลางเมืองเก่านี้มีเสน่ห์
ไม่มีตึกสูงระฟ้า ตึกสูงสามสี่ชั้น อยู่ใน
human scale ไม่ข่มผู้เดินเท้า
มีมนต์เสน่ห์ไม่ว่าเช้า
สาย บ่าย เย็น ค่ำหรือดึก ที่น่ารักเป็นพิเศษ
ทุกครั้งที่ข้าพเจ้าผ่านไปพักที่เมืองนี้ แม้เพียงระยะสั้นๆ 1-2 วัน ก็รู้สึกเบิกบานใจเสมอ
และข้าพเจ้าไปเมืองนี้ตลอดสิบกว่ายี่สิบปีที่ผ่านมา ไม่ต่ำกว่าหกเจ็ดครั้ง ทุกครั้งที่ผ่านไปกำลังเดินๆ อยู่ๆก็มีวงดนตรีมาตั้งกลางถนนและเริ่มแสดงตรงนั้นเลย
เดี๋ยวนั้น ไม่มีพิธีรีตอง แม้ฝนตกก็แสดงต่อ นี่คือความรักดนตรีที่แท้จริงของชาวเมือง (และชาวออสเตรีย เพราะตามสวนเช่น
สวน Mirabell
ที่เมือง
Salzburg เสียงดังออกจากมวลแมกไม้ ตามเสียงไป เห็นวงดนตรีบนเวทีธรรมชาติ
ล้อมรอบด้วยต้นไม้ คนเอาเก้าอี้ไปตั้ง
กลายเป็นเวทีที่สมบูรณ์ ให้เป็นที่แสดงดนตรีหรือละครเพลง ของเด็กนักเรียน
ของทีมอาสาสมัครฯลฯ)
การฟังดนตรีแบบนั้น
ในสวน บนถนนคนเดิน เป็นความสุขที่ไม่ต้องใช้เงินซื้อเลย ดนตรีควรจะฟรีสำหรับทุกคน (ในเยอรมนีก็เช่นกัน การแสดงดนตรีเป็นการบริการสังคมที่ดีมาก
หลักสำคัญมิได้อยู่ที่ออกมาหาเงิน แบบดนตรีเปิดหมวก บางทีเหมือนการซ้อม
เหมือนการมาโต้กันด้วยดนตรี)
ที่อินสบรูคบางปีเป็นทีมนักเรียน บางปีเป็นทีมทหาร ทีมนักร้องจากต่างเมือง นักดนตรีเดินมาพร้อมเก้าอี้พับคนละตัว กางลงแล้วเริ่มแสดงกันเลย
(เป็น flash mob แบบแรกๆ มีมานานกว่าสิบยี่สิบปีแล้ว)
เสียงดนตรีแทรกตัวเข้าไปตามซอกตามมุมของเมืองนี้ ปลุกความกระปรี้กระเปร่าได้ทันที ทุกคนเข้าไปล้อมรอบวง
ร้องตามหรือขยับตัวตามจังหวะ นี่เป็นเสน่ห์ของเมืองเล็กในต่างจังหวัด ความรักดนตรีเป็นสัญชาตญาณธรรมชาติ ไม่น่าจะเป็นสิ่งที่คนต้องซื้อด้วยราคาแพงๆ
ภาพที่นำมาลง มีตั้งแต่ภาพที่ถ่ายไว้ปี 2000
จนถึงปี 2011 ในปี 2001 นั้นเมื่อผ่านไปตอนกลางวัน
มีการแข่งจักรยานรอบเมือง ตอนค่ำมีทีมนักเรียนมาแสดงระบำพื้นเมือง
ทุกคนออกมาบนถนน ใจครื้นเครง ดนตรีรวมจิตวิญญาณของชาวเยอเมนิคได้ดีที่สุด
หัวมุมถนนหลังจากข้ามสะพาน
เดินตรงเข้าสู่ใจย่านเมืองเก่า จะเห็นประติมากรรมประดับหน้าอาคารตรงมุมนั้น
นายช่างศิลป์ได้ตั้งชื่อประติมากรรมไว้ว่า “พ่อลูก” ผู้เฝ้าระแวดระวังการเข้าเมือง
ระวังภัยให้คนในเมืองในสมัยที่เกิดสงครามเพื่อการปลดปล่อยแคว้นตีรอล
(Tirolean Wars of Liberation, 1809)
ผลงานของ Christian Plattner.
ภาพบนเป็นประตูชัยของเมืองที่สร้างขึ้นในปี
1765 อยู่ทิศใต้บนถนนหลักของเมืองซึ่งคือ Maria-Theressien-Strasse
เพื่อเป็นอนุสรณ์เนื่องในพิธีมงคลสมรสของเจ้าชาย
Leopold แห่งออสเตรียกับเจ้าหญิง Maria Ludovica
แห่งสเปน ประตูชัยแสดงชัยของการรวมแผ่นดินอย่างสันติหรือชัยของผู้ชนะสงคราม
ในที่สุดแล้วมีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน ต่างกันตรงวิธีรวมแผ่นดิน เพราะฉะนั้นนโยบายของแม็กซีมีเลียนจึงน่าจะดี
เพราะรวมแผ่นดินได้โดยไม่เคยต้องรบใดๆ
สตรีสองคนนี้ก็น่าทึ่งพอๆกัน
แต่งชุดพื้นเมืองธรรมดาๆ ที่ชาวออสเตรีย(เยอรมันและชาวสวิสฯ)ใส่กันทุกครั้งที่มีโอกาส
เรียบร้อยและเป็นผู้หญิงดี ไม่ว่าจะมีรูปร่างอ้วนหรือผอม ชอบชุดประจำชาติแบบนี้มากเลย
ทางเข้าโรงแรม Weisses Kreuz
(แปลว่าWhite Cross) ตั้งมาตั้งแต่ปี1443 เป็นหนึ่งในโรงแรมที่มีคนดังๆในแต่ละยุคมาพัก สะอาดน่าอยู่โดยไม่จำเป็นต้องมีสิ่งประดับหรูหรา
อลังการแบบเว่อเต็มไปด้วยสีเงินสีทองที่คนไทยนำมาตกแต่งคฤหาสน์ของตน จะมีก็แต่ภาพวาด เครื่องไม้เท่านั้น
ภายในห้องอาหารห้องหนึ่ง บนกำแพงมีพระบรมฉายาลักษณ์ในกรอบวงรี
ของกษัตริย์ Franz Joseph กับพระนาง Elizabeth
(Sisi) ทั้งสองพระองค์พบกันครั้งแรกที่เมืองอินสบรูค ส่วนตรงกลางเป็นภาพของนักเขียน Goethe (มองไม่ชัดเพราะแสงสลัวๆ)
ในส่วนที่ใช้เป็นห้องอาหารจานด่วนและเป็นห้องกาแฟสำหรับนักท่องเที่ยวปัจจุบัน
บนกำแพงก็มีภาพบุคคลต่างๆที่เคยมาพัก มาทานอาหารที่ร้านที่โรงแรมนี้ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน ภาพขวาในห้องโถง
เห็นคำ Maximilian - Stube (stube แปลว่า ห้อง) จำหลักลงบนคานไม้เหนือประตู เพราะเคยเป็นห้องพักของพระองค์
โรงแรม
Goldener Adler แม็กซีมีเลียนเคยมาพักที่นี่รวมทั้งแขกคนดังคนอื่นๆ
ห้องอาหาร
ภาพบุคคลสี่คนบนกำแพงนั้น
เป็นจิตรกรรมโมเสกชิ้นเล็กๆที่ต่อกันเป็นภาพ
มุมหนึ่งบนชั้นสองจัดเป็นมุมโมสาร์ท
ประดับด้วยจดหมายลายมือของโมสาร์ทที่เขาเขียนไปถึงโรงแรม ยังมีเอกสารลายมือของโมสาร์ทอีกในโรงแรม มีไวโอลินเก่าประดับด้วย
ดังรายชื่อที่จำหลักลงบนแผ่นหินอ่อน
ตั้งแต่ปี 1494 ถึงปี 1999
ที่ทางโรงแรมนำมาวางโชว์ไว้หน้ากำแพงโรงแรม จะเห็นว่า สมเด็จพระเทพฯ
และสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ ก็เคยเสด็จไปประทับที่โรงแรม Goldener
Adler ข้าพเจ้าเองเคยไปพักที่นั่นหลายครั้ง จนคุ้นเคยกับลูกสาวเจ้าของโรงแรมผู้ทำหน้าที่ผู้จัดการโรงแรม เคยใช้กล้องดิจิตัลถ่ายภาพมุมต่างๆของโรงแรมและอนุญาตให้เธอใช้ทำเอกสารแผ่นพับโฆษณาโรงแรม
(ตอนนั้นกล้องดิจิตัลเพิ่งออกมาไม่กี่รุ่น) เคยแหย่ว่า ข้าพเจ้าเคยพักที่นั่นหลายครั้งแล้วนะ
น่าจะมีชื่อจำหลักไว้ด้วย
เนื่องจากยังเป็นโรงแรมแบบพื้นเมือง
เรียบง่าย ไม่มีเฟอนิเจอร์หรูหรา เป็นไม้ทนทานแข็งแรง พื้นห้องเป็นไม้เนื้อแข็ง
ที่ยังคงเงางามทนทานมาถึงปัจจุบัน
ให้ความรู้สึกของบ้านเรือนไม้ที่อบอุ่นของครอบครัวใหญ่ ความโดดเด่นของโรงแรมอยู่ที่ความสะอาด ผ้าปูเตียงขาวเรียบเหมือนลงแป้งตามวิถีชีวิตในสมัยก่อนๆ ค่าห้องเดี่ยวที่อยู่ใต้หลังคา ราคาไม่แพงเลย (50-70 ยูโร ครั้งแรกที่ไปยังไม่ใช้เงินยูโร) แต่ต่อมาแพงขึ้นๆเมื่อเทียบกับโรงแรมทันสมัยใหม่ๆที่สร้างขึ้นบนฝั่งเมืองใหม่ที่ถูกกว่า นอกจากนี้ตั้งแต่มีการโฆษณาด้วยแผ่นหินอ่อนดังกล่าว
ทัวร์ญี่ปุ่นจะจองห้องจำนวนมากทำให้หมดโอกาสไปพัก โรงแรมนี้ยังขึ้นป้ายประกาศว่า เป็นสถานอนุรักษ์ทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งของเมือง อาหารที่นั่นก็ดี ประณีต home-made ทั้งสิ้นตั้งแต่ขนมปัง เนย
แยม ซอสทั้งหลายและอาหารจานต่างๆ และแน่นอนมีไวน์ชั้นดีและเบียร์บริการด้วย (เลยโฆษณาให้ฟรีๆเลย เปิดดูได้ในอินเตอเน็ตที่ goldeneradler.com เผื่อใครสนใจไปพักที่นั่น เสพบรรยากาศยุคก่อน)
ศิลปะเหล็กดัดที่ทำเป็นป้ายของร้านดังตัวอย่างที่นำมาให้ชมข้างล่างนี้
นิยมแพร่หลายในออสเตรียและเยอรมนีมากกว่าในประเทศอื่นใด ทำกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่
14-15. ฝรั่งเศสก็มีเช่นในมณฑลช็องปาญ
หรือแถบ St-Émilion
ในภาคใต้ รูปลักษณ์การสื่อสารข้อมูลหรือธุรกิจของร้านด้วยวิธีนี้
เห็นชัดเจนและเข้าใจได้ทันที
ข้าพเจ้าอยากพูดว่า เป็นบทกวีบนเหล็กดัด ยังมีแบบเก๋กว่านี้
ได้ถ่ายเก็บภาพเหล็กดัดร้านค้าต่างๆมาแรมปี
แต่ยังไม่มีเวลาค้นออกมาให้ดู
เมืองอินสบรูคนั้นน่าไป น่าอยู่ทั้งในและนอกเมือง
โบสถ์กับวัด พิพิธภัณฑ์
หรือพระราชวังกับปราสาท ร้านค้าผลิตภัณฑ์พื้นเมือง
เสื้อผ้าลินินเนื้อดี
ฝีมือดี made
in Austria ปีหลังๆมา คนจีนทำมาแข่ง
ราคาถูกกว่า แต่มันผิดกัน
ที่นั่นสถาปัตยกรรมสมัยก่อนเป็นจุดเด่นและจุดขาย แต่บรรดาร้านรวงนั้น อาจเปลี่ยนเจ้าของไปแล้ว
เพราะมีชาวต่างชาติเข้าไปลงทุนและคิดทำเงิน เลียนแบบผลิตภัณฑ์ออสเตรียด้วยปรัชญาจีนหรืออินเดีย น่าเสียดายและเสียใจกับคนในท้องถิ่น
ไม่ไกลออกในชานเมือง มีโรงงานที่ผลิตคริสตัลของ Swarovski
ที่ตั้งของโรงงานผลิตคริสตัล Swarovsky ในหุบเขา นอกเมืองอินสบรูค ธรรมชาติโดยรอบสวยงามจากหน้าสถานีรถไฟเมือง Innsbruck (ที่สร้างใหม่ ใหญ่โตและสะดวก) มีรถโดยสารพาตรงไปที่ โลกของ Swarovsky เลย มีชั่วโมงละเที่ยว นักท่องเที่ยวเยอะที่ใช้บริการรถเมล์พิเศษสายนี้ ไม่ฟรี
แม็กซีมีเลียนมีบ้านเป็นกระท่อมไม้บนภูเขา
ที่พระองค์หลบไปอยู่ตามลำพังบ่อยๆ มีข้อความจารึกไว้บนผนังห้องในกระท่อม
ที่มีผู้แปลเป็นภาษาอังกฤษออกเผยแพร่ว่า
“ I will
live I don't know how long and I will die I don't know when. I have
to go I don't know where, I wonder why I am so happy.” Maximilian I.
อินสบรูคเป็นเมืองพิเศษสุดในออสเตรียสำหรับข้าพเจ้า
PS. มีร้านอาหารไทยชื่อ “Thai-Lee” ที่ทำแกงเผ็ดเป็ดย่างที่อร่อยที่สุดที่เคยชิมมา เป็นร้านเล็กๆในเขตเมืองเก่า อร่อยจนต้องถามหาคนทำ ปรากฏว่าเป็นคนจีนทำ เคยอยู่เมืองไทย คงช่างกินด้วย ข้าพเจ้าเคยคุยกับเจ้าของร้านที่เป็นคนเยอรมัน เขาบอกว่าเคยจ้างคนไทยไปทำอาหาร
แต่คนไทยอยู่ไม่นานก็ออก บ่อยๆเข้าเลยต้องหาคนจีนแทน ข้าพเจ้าบอกว่า ถ้าคนจีนทำอาหารไทยได้แบบนั้น
เรียกว่าถูกปากคนไทยอย่างเรา(อย่างโช)
ข้าพเจ้าก็ยินดีและไปพูดชมคนทำในครัวเลย
หลายปีมาแล้ว กิจกรรมร้านอาหารไทยร้านนี้คงรุ่งมาก เจ้าของไปเปิดร้านใหม่อีกแห่ง
ใหญ่โตหรูหราทีเดียว เคยเข้าไปทานที่นั่น
อร่อยอยู่แต่ไม่เหมือนร้านเล็กๆในเมืองเก่า สงสัยอยู่ว่า
คนจีนอาจเข้าไปร่วมทุนเข้าหุ้นด้วย เพราะเหมือนจะทำเป็น “อุตสาหกรรมเล็กๆ”
ไปซะแล้ว
จากสมุดบันทึกการเดินทางของ โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
ไฟล์ปรับใหม่พร้อมภาพ เมื่อวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๗.
ยังไม่เคยไปสวิสเลย อ่านแล้วยิ่งอยากไป
ReplyDelete