ในวัฒนธรรมของทุกเชื้อชาติและโดยเฉพาะในวัฒนธรรมตะวันตก ต้นไม้เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตในแนวตั้ง โดยเทียบกับท่ายืนของคนบนพื้นโลก ต้นไม้ยึดผืนดิน ชอนไชลงไปลึกเกินกว่าที่ตาคนจะมองเห็น รากที่แผ่ออกอย่างเป็นสัดส่วน คือภาพของเท้าคนที่โยงไปถึงอดีตและธรรมเนียมที่เขารับมา ถึงต้นกำเนิดและอนาคตของเขา ลำต้นที่พุ่งทะยานขึ้นสู่เบื้องบน กิ่งก้านสาขาที่แผ่ออก รับน้ำค้าง รับฝน เหมือนรองรับจิตวิญญาณจากสวรรค์ ฝูงนกที่เข้าไปเกาะบนต้นไม้เหมือนผู้ถือสารจากสวรรค์ ภาพของต้นไม้ที่เด่นตระหง่าน ยืนหยัดสู้ลมสู้ฝน สู้กาลเวลา แสดงพลังอำนาจที่แข็งแกร่งกว่าคน นอกจากเป็นที่กำบัง ที่หลบภัย ปกป้องคุ้มกันคนที่อ่อนแอกว่า เป็นที่หลับที่นอนแล้ว ต้นไม้เป็นที่พึ่งพาทางใจของคน ผู้สำนึกแน่แก่ใจว่าต้นไม้คือชีวิต คือภาพลักษณ์ของการดำรงชีวิตที่คนอาจยึดเป็นแบบอย่างของการปรับตัวให้สมดุลกับธรรมชาติและจักรวาล ต้นไม้ใหญ่ๆมีชีวิตยืนนานกว่าคน ตั้งแต่โบราณ อาวุธคู่มือของชายฉกรรจ์ เป็นกระบองที่ตัดเหลาเจียนจากกิ่งต้นไม้ใหญ่ ไม้ยังมาทำเป็นโล่อีกด้วย เป็นคทาผู้นำ หรือคทาแห่งความยุติธรรม และในวัยชรา คนก็ได้ไม้เท้าช่วยค้ำยันตัวเขาไปจนถึงวันสุดท้าย
ต้นไม้โลก ต้นไม้แห่งชีวิต
ต้นไม้แห่งความรู้และต้นไม้แห่งแสงสว่าง
ไม่ว่าที่ใดในโลก ต้นไม้เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้และการพัฒนาจิตวิญญาณอย่างแยกกันไม่ออก ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ปราชญ์สมัยก่อนสามารถมองเข้าถึงต้นไม้ได้อย่างไร จนมอบหมายให้ต้นไม้เป็นศูนย์กลางของความเข้าใจเกี่ยวกับโลก การศึกษาค้นคว้าด้านโบราณคดีและตำนานเทพโบราณได้ให้ข้อมูลใหม่ๆจำนวนมากที่ทำให้เราสามารถตอบคำถามแบบนี้ได้ และให้ความรู้ที่สามารถเชื่อมโยงความเชื่อในทุกศาสนาเข้าด้วยกัน เป็นความรู้ที่เป็นสากลอย่างแท้จริง เช่นเหนือสิ่งอื่นใด “ต้นไม้โลก” เป็นตัวแทนของจักรวาลทั้งหมด เพราะฉะนั้นทุกสิ่งที่มีอยู่เป็นส่วนหนึ่งของโลก ของต้นไม้จักรวาล เป็นต้นไม้ที่มีรากหยั่งลึกลงไปถึงสมัยเมื่อเกิดสิ่งมีชีวิตขึ้น และกิ่งก้านสาขานับไม่ถ้วนของต้นไม้ แผ่ออกและสร้างสรรพชีวิตรูปแบบต่างๆ ต้นไม้นั้นมิได้เป็นเพียงสัญลักษณ์ของจักรวาล เป็นที่สถิตของเทพ โครงสร้างลึกใต้พื้นผิวที่ตาเรามองไม่เห็นก็ยังมีรูปร่างของต้นไม้ เพราะฉะนั้น ต้นไม้โลกทั้งรูปร่างลักษณะภายนอกและความอวบอิ่มภายใน จึงเป็นภาพลักษณ์ที่วิเศษของจิตวิญญาณของพระเจ้า และทำให้ต้นไม้กลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าที่ใดมุมใดในโลก คนเคารพบูชาต้นไม้ บูชาความเป็นสิ่งบริสุทธิ์ที่สุดของวิญญาณสร้างสรรค์ที่ควบคุมโลกอยู่
รูปลักษณ์ของต้นไม้เป็นโครงสร้างถาวรที่มิอาจเปลี่ยนเป็นอื่นได้ รูปลักษณ์เดียวกันนี้ปรากฏซ้ำแล้วซ้ำอีกในหมู่มวลพืชพรรณ ในระบบเส้นเลือดและระบบเส้นประสาททั้งในคนและสัตว์ แม้แต่เครือข่ายของระบบเส้นประสาทในสมองคน ที่ตั้งอยู่บนลำคอเหนือกระดูกสันหลัง (trunk) ก็เหมือนภาพลักษณ์ของต้นไม้ เหมือนต้นไม้ที่อยู่บนดินและเหมือนต้นไม้(การกระจายของราก)ที่อยู่ใต้พื้นลงไป ความคิดดังกล่าวมีบันทึกไว้แล้วในจารึกของอียิปต์โบราณ ของชาวฮีบรูและในจารึกสันสกฤต คำสอนโยคะโบราณของอินเดีย มีพลังงานนิ่ง (Kundalini energy) ที่แฝงตัวไว้อยู่ที่โคน(ราก)ของกระดูกสันหลัง และพลังนี้ที่ไปปลุกราก(ระบบประสาท)ให้ตื่นและพุ่งตัวขึ้นสู่ยอดสูงสุด(สมอง)
รูปลักษณ์เดียวกันนี้ก็เป็นโครงสร้างของจิตวิทยาของมนุษย์เช่นกัน ดังที่นักจิตวิทยา Carl Gustav Jung ระบุไว้ เพราะจิตวิทยาคนมีรากอยู่ในความมืดของจิตใต้สำนึก และพัฒนาเป็นขั้นเป็นตอนด้วยจิตสำนึก (ซึ่งเทียบได้กับลำต้นไม้) เพื่อบรรลุความเป็นเอกบุคคล (ที่เทียบได้กับยอดไม้ )
ต้นไม้ที่ชนเผ่าเคารพสักการะมักยืนเด่นอยู่ภายในบริเวณที่ปิดล้อมที่ได้รับการปกป้องอย่างดี หรือใน “สวนสวรรค์” “บริเวณศักดิ์สิทธิ์” ที่ชนแต่ละเผ่ากำหนดขึ้น ตำนานชนบางเผ่าเล่าถึงงูใหญ่หรือมังกรที่เฝ้าบริเวณนั้นว่า คือวิญญาณของพระแม่ธรณีผู้มาเฝ้าดูแลของขวัญจากสวรรค์ต้นนั้น เนื่องจากต้นไม้โลกบรรทุกสรรพชีวิตไว้ในตัว มันจึงเลี้ยงดูสรรพชีวิตด้วย และเมล็ดจากต้นไม้โลกก็คือพันธุ์ไม้และพันธุ์สัตว์ทั้งมวล ต้นไม้โลกจึงเป็นต้นไม้แห่งชีวิตด้วยพร้อมกัน เป็นต้นไม้ที่ไม่รู้ตาย เป็นต้นไม้ที่ยืนหยัดเลี้ยงดูตนเองและเอื้อเฟื้อแก่ทุกชีวิต จึงอาจบันดาล “ความไม่รู้ตาย” ให้ได้ด้วย หากมีโอกาสดื่มน้ำหล่อเลี้ยงที่มีอยู่ภายในต้นไม้ หรือกินผลไม้ศักดิ์สิทธิ์ เช่นกรณีของผลแอปเปิลทองคำที่เหล่านางฟ้า (Hesperides) เฝ้าไว้อย่างหวงแหนในตำนานกรีก หรือแอปเปิลในตำนานของชนเผ่านอร์ซ (Norse) ในภาคเหนือของยุโรป เป็นต้น น้ำหล่อเลี้ยงอันล้ำค่านั้นเรียกว่า soma (โสม) ในคัมภีร์พระเวทของพราหมณ์โบราณ[2] มีบทสวดสรรเสริญสรรพคุณว่าน้ำนั้นมีฤทธิ์เดชของมหากวี ยืนยันบทบาทของ “น้ำเมา”ว่าเป็นดั่งน้ำอมฤตที่ให้แรงดลใจในการสร้างสรรค์วรรณกรรม ค่านิยมนี้สืบทอดต่อมาจนถึงทุกวันนี้ ในศตวรรษที่หกก่อนคริสตกาล กษัตริย์เปอเชียผู้เป็นทั้งนักบวชสูงสุดของประเทศ (ชื่อ Zoroaster-โซ้โรแอ๊สเทอ) ถือว่า ต้นไม้แห่งชีวิต เป็นต้นไม้ที่ให้พลังความแข็งแรงและสุขภาพแก่ร่างกาย และให้ความรู้ความเข้าใจและชีวิตนิรันดร์แก่จิตใจ บนดินแดนอียิปต์ก็เช่นกัน มีต้นไม้ที่ให้ผลที่ล้วนเป็นอาหารของคน (เช่นต้นมะเดื่อ อินทผลัม ต้นอัลมอนด์) และแม้ในอาณาจักรของคนตายก็มีต้นไม้จำนวนมากที่ให้ผลไม้เป็นอาหารและน้ำแก่วิญญาณ คัมภีร์พระเวทและอุปนิษัทยังได้เจาะจงถึงกำเนิดของต้นไม้โลกในตำนานการสร้างโลกของพระพรหม ว่าพระพรหมเองเป็นเสมือนต้นไม้ที่มีรากอยู่ในอากกาศ และมีกิ่งก้านสาขาแผ่กระจายออกจำนวนมาก รากบริสุทธิ์ของต้นไม้คือตัวพระพรหมเองผู้เป็นปรมาตมัน แต่ละกิ่งแตกออกจากราก เป็นเทวดาองค์หนึ่ง
ตั้งแต่สมัยโบราณ ชนทุกหมู่เหล่าโดยเฉพาะในอียิปต์ ชนเผ่าที่อาศัยอยู่บนดินแดนเมโสโปเตเมียและชนชาวกรีก ดวงดาวที่เป็นประกายในท้องฟ้า คือผลไม้ของต้นไม้โลก เพราะฉะนั้น ลักษณะของต้นไม้แห่งชีวิตโดยปริยายจึงเป็นต้นไม้ที่ส่องประกายสุกสว่าง ชาวยิวพัฒนาคตินี้ไปเป็น Menorah [เมโนรา] หรือเชิงเทียนที่แยกออกเจ็ดกิ่งหรือเจ็ดแฉก ที่เป็นสัญลักษณ์ของแสงจากพระเจ้าที่ฉายลงสู่โลก ในดาราศาสตร์และโหราศาสตร์ (สมัยนั้นคือศาสตร์เดียวกัน ยังแบ่งแยกกันไม่ออก) ของชนเผ่าบนดินแดนเมโสโปเตเมีย เจ็ดแฉกพัฒนาต่อไปเป็นระบบสุริยะอันมีดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัส และดาวเสาร์
ดังกล่าวแล้วว่าต้นไม้แห่งชีวิตเหมือนคลังอาหารของสรรพชีวิต ทั้งทางกายและทางใจ จึงเป็นต้นไม้แห่งความรู้ไปด้วยโดยปริยาย (เพราะความรู้คืออะไร หากมิใช่การรู้จักใช้ชีวิตให้เป็นสุข ทั้งทางกายและทางใจ การรู้จักใช้ชีวิตให้เป็นสุขคือการรู้ว่าอะไรดี อะไรไม่ดีสำหรับตน มิใช่หรือ?) ความหมายทวินัยของต้นไม้ (คือเป็นต้นไม้แห่งชีวิตและต้นไม้แห่งความรู้) เป็นที่ยึดถือกันในชนทุกหมู่เหล่า ยกเว้นชาวคริสต์ ผู้ขวานผ่าต้นไม้ให้เป็นสอง โดยให้ครึ่งที่เป็นต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชอบกลายเป็นสิ่งต้องห้ามไป ถึงกระนั้นยังมีร่องรอยของคติโบราณแฝงอยู่อีกในคัมภีร์ไบเบิล เช่นเมื่ออีฟพูดกับงูว่า “เราอาจกินผลไม้จากต้นไม้ต่างๆในสวนได้ แต่พระเจ้าพูดว่า เจ้าจะกินผลไม้จาก ต้นไม้ ที่อยู่ตรงกลางสวนไม่ได้” (Gen 3:2-3) และเมื่ออาดัมกับอีฟถูกขับออกจากสวนอีเด็น พระเจ้าส่งเทวทูต “ไปเฝ้าทางที่ทอดไปสู่ต้นไม้แห่งชีวิต” (มิให้ทั้งสองหวนกลับไป) เช่นนี้ ต้นไม้กลางสวนอีเด็นคือต้นไม้แห่งชีวิต และก็เป็นต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว เท่ากับว่าในคัมภีร์เองแต่เดิมก็ยึดคติเกี่ยวกับต้นไม้ต้นเดียวกันที่มีทวินัยเหมือนกับชนชาติอื่นๆ
ในอินเดียโบราณ ใบไม้ของต้นไม้โลกเรียกว่า veda (เวท ที่แปลว่า ความรู้) เพราะความเฉลียวฉลาดและความเข้าใจช่วยให้จิตใจเจริญพัฒนา ต้นไม้โลกเหมือนปรากฏร่วมอยู่ในสรรพสิ่ง การเข้าร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับต้นไม้โลก ย่อมนำความรู้แจ้ง เพราะฉะนั้นพระและหมอ(ผี)ชาวไซบีเรีย (shamans) ต้องปีนต้นไม้โลกเพื่อบรรลุโลกของจิตวิญญาณ นักบวชดรูอิดร่ำเรียนความลึกลับของป่าไม้ Odin (เทพเจ้าของชนเผ่า Norse )ลงจากต้นไม้และนำระบบอักษรมาสู่ประชาชน พระพุทธเจ้าเสด็จออกจากใต้ต้นโพธิ์ ด้วยความเข้าใจอย่างถ่องแท้เกี่ยวกับวัฏจักรชีวิตและทางแห่งการหลุดพ้น และทำไมมวลชนไปนั่งสวดมนต์ภาวนาใต้ต้นไม้ และที่ Zoroaster พูดไว้ว่า “สำหรับจิตวิญญาณ ต้นไม้คือทางสู่สวรรค์”
การกราบไหว้บูชาต้นไม้ การไปพูดไปขออะไรกับต้นไม้ หรือสื่อสารกับทวยเทพโดยผ่านทางต้นไม้ แทรกอยู่ในเทพตำนาน หรือในนิทานมหัศจรรย์ทั้งหลายที่เล่าว่า สารจากสวรรค์มาถึงคนในรูปของสายลมหรือกลิ่นระรวยที่พัดผ่านมวลใบไม้ของต้นไม้ เป็นเสียงซู่ เสียงครวญ เสียงคำราม เสียงถอนใจฯลฯ ธรรมชาติแบบต่างๆ คือการมาปรากฏตัวของเทพเจ้าบนพื้นโลกตามวาระต่างๆ และเทพเจ้าแต่ละองค์ก็มีต้นไม้ที่โปรดมากที่สุดและสื่อสารกับคนที่มีจิตละเอียดประณีต ผู้ที่สนใจสังเกตต้นไม้แต่ละชนิดในป่า จะสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงในต้นไม้ที่คนอื่นอาจมองข้ามไป ทำให้เขามีญาณลึกล้ำกว่าคนอื่นและในที่สุดเข้าใจเจตนาของเทพเจ้าและถ่ายทอดสู่คนอื่นๆ เขารู้จักเลือกต้นไม้มาประกอบกันเป็นป่าศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีกรรมบวงสรวงบูชาเทพเจ้า ป่าศักดิ์สิทธิ์ธรรมชาตินั้นคือโบสถ์หรือเทวสถานของลัทธิความเชื่อต่างๆที่อุทิศให้แก่เทพเจ้า เป็นที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ความเชื่อเกี่ยวกับเทพารักษ์ประจำต้นไม้ หรือที่วิญญาณผู้ตายเข้าไปสิงหรือถูกกักไว้ในต้นไม้ ก็ปรากฏในตำนานของชนหลายเชื้อชาติทั้งตะวันตกและตะวันออก แบบลวดลายประดับในสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะในศิลปะโรมันเนสก์และกอติค เป็นพยานแห่งความเชื่อที่คนเคยมีเกี่ยวกับต้นไม้พืชพรรณในอดีต เช่นใบหน้าคนในหมู่ใบไม้ ลวดลายพืชพรรณที่จำหลักลงบนหินประดับตอนบนสุดของเสา ในตำแหน่งของหัวบัวเป็นต้น (ดูต่อข้างล่างนี้)
ในยุคแรกๆของลัทธิโรมันคาทอลิกนั้น ขนบธรรมเนียมเก่าๆจากโบราณยังเป็นที่เคารพเชื่อถือกันอยู่ Hippolytos บาทหลวงประจำกรุงโรมในศตวรรษที่สามเคยกล่าวสรรเสริญต้นไม้แห่งชีวิตในบทเทศน์เทศกาลอีสเตอร์ว่า เป็นพื้นฐานที่มั่นคงของจักรวาล เป็นศูนย์กลางอันสงบของสรรพสิ่ง เป็นฐานของวัฏจักรโลกและการเปลี่ยนแปลงในจักรวาล แต่หนึ่งศตวรรษต่อมา คริสต์ศาสนาเองกลับเป็นผู้ทำลายป่าศักดิ์สิทธิ์ของพวกนอกรีตจนเหี้ยนเตียน ต้นไม้แห่งชีวิตถูกบิดเบือนให้เป็นต้นไม้แห่งความยั่วยวน ให้นัยความหมายที่เลวร้ายพอๆกับซาตานในร่างของงูที่มาล่อใจอีฟ เพราะการบิดเบือนแบบนี้เองที่ทำให้ตลอดสิบหกศตวรรษต่อมา ยุโรป(ใต้อิทธิพลของคริสต์ศาสนา) มิอาจสร้างใยสัมพันธ์ใดๆกับธรรมชาติ
อย่างไรก็ดี ยังคงมีขนบเก่าๆที่รอดตายมาได้จากยุคนั้นและที่เห็นได้จากธรรมเนียมเรื่อง Yule log (Yule log เป็นท่อนไม้ตัดจากต้นไม้พิเศษต้นหนึ่ง มีธรรมเนียมการเผาท่อนไม้พิเศษนี้ในเตาผิง ในคืนวันก่อนคริสต์มาส หรือคืนก่อนวันขึ้นปีใหม่ เถ้าถ่านจากท่อนไม้นี้บางส่วนถูกนำไปโปรยในทุ่งนาทุ่งไร่เพื่อเป็นสิริมงคล ส่วนที่เหลือจะเก็บไว้ในบ้านเสมอเหมือนของขลัง (ในสมัยหลังๆ Yule log ยังใช้หมายถึงขนมเค้กช็อกโกแลตรูปเหมือนท่อนไม้ที่รับประทานกันในเทศกาลคริสต์มาส) ในธรรมเนียม Life Rod (เป็นกิ่งไม้เรียวๆของต้นไม้พิเศษต้นหนึ่ง มักเป็นต้น Rowan, Willow, Hazel หรือต้น Juniper เรียกกันว่าเป็น “ไม้เรียวแห่งชีวิต” คนใช้ตีฝูงปศุสัตว์ แกะ หรือแม้กระทั่งเด็กเล็กๆลูกๆหลานๆในครอบครัว ตีพอเป็นพิธีเท่านั้น เพื่อกระตุ้นกล้ามเนื้อปลุกพลังฟื้นฟูในตัว กระชับสุขภาพและศักยภาพในการแพร่พันธุ์) หรือในธรรมเนียมการปักเสา maypole ที่เป็นเสาสูงทาสีสวยงามและประดับด้วยดอกไม้ ในงานฉลองเทศกาลฤดูใบไม้ผลิ หรือบางทีก็ใช้กิ่งต้น Birch กิ่งอ่อนๆ แห่นำเข้าไปในหมู่บ้าน ตกแต่งอย่างสวยงามและไปปักตั้งอยู่ใจกลางของบริเวณพิธี ฉลองการกลับมาของฤดูร้อน ธรรมเนียมเก่าอีกอย่างหนึ่งคือการตกแต่งประดับประดาต้นไม้ในช่วงกึ่งกลางฤดูหนาว ซึ่งหายสาบสูญไปนานหลายศตวรรษ จนค้นพบใหม่ในปลายศตวรรษที่สิบแปดที่ประเทศเยอรมนี ไม่กี่สิบปีต่อมาเกิดธรรมเนียมการตกแต่งต้นคริสต์มาสที่แพร่หลายไปทั่วโลกตะวันตกเหมือนไฟป่าทีเดียว เป็นต้น ธรรมเนียมความเชื่อในสรรพคุณของต้นไม้ในด้านการเยียวยารักษา (รวมทั้งอุปนิสัยเฉพาะของต้นไม้) เผยให้เห็นเครือข่ายคุณสมบัติและสรรพคุณอันหลากหลายของต้นไม้แห่งชีวิตที่มนุษย์เคยเชื่อติดต่อกันมาตั้งแต่โบราณนั่นเอง
มนุษยชาติได้เรียนรู้อะไรบ้างไหมจากอดีตอันห่างไกล จากเหตุการณ์ที่ผ่านไป เพื่อนำโลกกลับไปสู่สภาพสวนสรรค์ดั่งที่มันเคยเป็น? มนุษย์สามารถปลูกป่า ดูแลและปกป้องต้นไม้ เพราะรู้แล้วว่าต้นไม้ช่วยรักษาบรรยากาศโลกให้อยู่ในสภาวะที่เอื้ออำนวยต่อการดำรงชีวิตของเรา จำเป็นที่เราต้องกระตุ้นคนสมัยปัจจุบันให้กลับมีความรู้สึกเคารพนับถือชีวิต วัฏจักรชีวิต วัฏจักรสังคมและวัฏจักรของตนเอง ในบริบทดังกล่าวนี้เท่านั้น ที่สรรพชีวิตจะดำรงอยู่ได้ ซึ่งก็หมายความว่ามนุษยชาติจะอยู่รอด
นักวิจัยชาวตะวันตกตั้งข้อสังเกตว่า ความเชื่อเก่าๆได้กลับมาเผชิญหน้าสู้กับเทคโนโลยีใหม่ๆ ยิ่งวัฒนธรรมโลกก้าวรุดไปข้างหน้า ยิ่งมีคนจำนวนมากขึ้นที่ย้อนกลับไปใกล้ชิดต้นไม้ และพบว่าการได้ไปอยู่กับต้นไม้ใหญ่ๆนั้น แม้มิได้ช่วยแก้ปัญหาเชิงเศรษฐกิจในชีวิต สามารถช่วยลดความเครียดของเขาลงได้ยิ่งกว่าสิ่งใดทั้งหมด ความรู้ความเข้าใจวิถีชีวิตในอดีต อาจมีส่วนช่วยกระชับความเข้าใจของเราว่า อนาคตต้องก้าวไปด้วยจิตสำนึกที่คารวะอดีต ว่าขนบธรรมเนียมเก่าๆที่อธิบายไม่ได้ตามแนววิทยาศาสตร์นั้น อาจมีประสิทธิภาพเหนือกว่าการกลืนกินยาสารพัดชนิดเพื่อแก้ปัญหาสุขภาพ
มนุษย์พืช
รูปลักษณ์หนึ่งที่มักพบเห็นเสมอในหมู่ประติมากรรมจำหลักนูนบนกำแพงหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของโบสถ์ใหญ่ๆในยุโรป คือใบหน้าคนหรือสัตว์แฝงตัวในกิ่งไม้ใบไม้ โดยมีกิ่งไม้ใบไม้ทะลุออกจากปาก ตา จมูกหรือหู (ส่วนใหญ่จะทะลุออกทางปากมากกว่าแบบอื่น) บางทีก็เห็นเพียงตาและจมูก ชาวอังกฤษเรียกรูปลักษณ์แบบนี้ว่า Green Man แปลตามตัวได้ว่า “มนุษย์สีเขียว” ที่เราอาจเรียกว่า “มนุษย์พืช”
จากโบสถเมือง Canterbury ประเทศอังกฤษ
จากโบสถ์เมือง Exeter ประเทศอังกฤษ
ธรรมเนียมการจำหลักใบหน้าคนในมวลใบไม้นั้น นิยมกันมานานแล้วในยุโรปภาคเหนือ ก่อนที่จักรวรรดิโรมันจะแผ่อำนาจไปถึง ศิลปะโรมันสมัยคริสต์ศตวรรษที่หนึ่งมีรูปคนตัวจิ๋วเล่นอยู่ในหมู่กิ่งไม้ใบไม้ หรือรูปครึ่งคนครึ่งใบไม้ รูปลักษณ์แบบนี้จำหลักประดับเป็นแถบยาวบนกำแพงวัดไปทั่วจักรวรรดิโรมันตั้งแต่ตุรกีไปถึงแถบลุ่มแม่น้ำไรน ยังเป็นแบบประดับในศิลปะอินเดียตั้งแต่ศตวรรษที่แปด ในประเทศอังกฤษ ภาพมนุษย์พืชที่เก่าที่สุดอยู่ในศตวรรษที่สิบสอง ชาวยุโรปสร้างแบบใบไม้ที่ดูเหมือนหน้าคน แล้วต่อมาเปลี่ยนให้ใบไม้พุ่งออกจากปากคนเหมือนหนวดพืช รูปลักษณ์หลังนี้เริ่มจำหลักเป็นครั้งแรกบนหินสุสานของนักบุญ Abre [อ๊า-เบรอะ] ใกล้เมือง Poitiers [ปัว-ติเย่] ในฝรั่งเศส หลังจากนั้นกลายเป็นแบบประดับแบบหนึ่งในศิลปะกอติคของถิ่นนั้น
จากโบสถ์เมือง Bamberg ประเทศเยอรมนี
มนุษย์พืชที่มีชื่อเสียงและโดดเด่นที่สุดในประวัติศาสตร์ศิลป์ คือที่ปรากฏจำหลักไว้บนกำแพงสูงกำแพงหนึ่งภายในวิหารใหญ่เมืองบำแบร์ก-Bamberg ประเทศเยอรมนี ประติมากรรมชุดนี้รู้จักกันในนามว่า อัศวินขี่ม้าแห่งเมืองบำแบร์ก (Der Bamberger Reiter) ให้สังเกตมนุษย์พืชบนฐานหินที่รองรับรูปปั้นใต้ขาหน้าของม้า เนรมิตขึ้นในราวปี 1200 ประติมากรรมนี้ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของเมืองบำแบร์ก
ในศิลปะเคลต์ ลวดลายหลักๆคือรูปลักษณ์สอดเกี่ยวไขว้กันไปอย่างซับซ้อน ที่มองดูคล้ายแบบการเจริญเติบโตของพืชพรรณ ลวดลายแบบนี้บางทีก็ปรับไปใช้สื่อรูปร่างหน้าตาของสัตว์หรือหัวคน ยังมีรูปลักษณ์ที่ดูแล้วเหมือนทั้งพืชและหัวคนพร้อมกัน ศิลปะแบบนี้สลายลงเมื่อชาวโรมันเข้ารุกรานแผ่นดินของชนเผ่าโกล (Gaul) ถึงกระนั้นศิลปินในยุคจักรวรรดิโรมันยังคงชื่นชอบลวดลายใบไม้ ภาพมนุษย์พืชรุ่นแรกๆลอกเลียนแบบมาจากเอกสารเขียนด้วยลายมือที่มีภาพจิตรกรรมน้อยประดับ ส่วนใหญ่แสดงวิสัยทัศน์ที่หวาดกลัว คนแอบแฝงกายหลังพุ่มไม้ใบไม้ สรรพสิ่งเหมือนได้สูญเสียอัตลักษณ์ของตนเพราะการปลอมแปลงตัวไปเป็นอีกสิ่งหนึ่ง ภาพมนุษย์พืชเต็มตัวมีน้อยมากแต่ก็มี เช่นเป็นไม้จำหลักพบที่โบสถ์เมือง Hampshire [แฮ้มพฺเฉอะ]ในอังกฤษเป็นต้น นอกจากใบหน้าคนแล้วยังมีใบหน้าของสัตว์ มองดูเหมือนแมว เสือหรือมังกร (อังกฤษใช้คำ cat-masks ที่แปลว่า “หน้ากากแมว”)
ไม่มีใครบอกได้ว่าทำไมจึงเกิดภาพ “ มนุษย์พืช” ตัวอย่างที่เก่าแก่ที่สุดที่ตกทอดมาถึงเราอยู่ตามโบสถ์ และ อาคารที่อยู่ส่วนตัวก็มีภาพมนุษย์พืชประดับด้วย แต่เนื่องจากอาคารที่อาศัยสมัยเก่าทรุดโทรมลงหรือถูกบูรณะปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัยหลังๆ โบสถ์จึงเป็นสถานที่สุดท้ายที่ยังยืนหยัดและแบกทรัพย์มรดกจากอดีตไว้
โดยทั่วไปอาจกล่าวได้ว่า ภาพมนุษย์พืชนั้นเป็นเสมือนรอยนิ้วมือของนายช่างจำหลักหินที่ทิ้งไว้ ไม่ปรากฏมีภาพมนุษย์พืชในงานเนรมิตศิลป์แบบอื่นๆ เช่นไม่มีภาพมนุษย์พืชปรากฏเป็นเนื้อหาในศิลปะการทำกระจกสีเป็นต้น
ไม่ปรากฏมีรูปแบบบังคับสำหรับการเนรมิตมนุษย์พืช ส่วนใหญ่มักแสดงความหวาดระแวง ความกลัวตาย ที่อาจสืบเนื่องมาจากความกลัวกาฬโรคที่ชาวยุโรปเรียกว่า “โรคดำมรณะ” ที่ทำให้ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมากในยุคกลาง ทำให้มนุษย์พืชมีหน้าตาน่าเกลียดน่ากลัว และหากเรานึกถึงสภาพความเป็นอยู่ในยุคกลาง คนที่หลบๆซ่อนๆหลังพุ่มไม้ อาจเป็นโจรหรือขโมยที่คอยหลอกหรือข่มขู่คน หรือเป็นนางไม้ในป่าที่ลือกันว่าชอบยั่วยวนให้ชายหลงติดกับ และคนก็ยังเชื่ออีกว่ามีวิญญาณถูกกักขังไว้ในลำต้นไม้ เพราะฉะนั้นความหวาดหวั่นจึงดูเหมือนฝังอยู่ในจิตสำนึกของคนยุคกลาง ปลายยุคกลางจึงปรากฏหน้าตาแบบอื่นๆที่สื่ออารมณ์ขัน น่ายำเกรง หรือน่าหมั่นไส้ เป็นต้น นอกจากนี้ ใบอ่อนๆที่เพิ่งผลิใหม่นำความสุข ความกระปรี้กระเปร่าแก่ผู้ได้พบเห็น ทั้งๆที่เหล่าบาทหลวงพยายามเตือนให้ระวังตัว ว่าฤดูใบไม้ผลิเป็นฤดูยั่วยวนตัณหา แต่น้อยคนนักอยากจะฟัง หนุ่มสาวออกเดินเล่นในป่าละเมาะเป็นคู่ๆโดยเฉพาะในเดือนพฤษภาคม ในศิลปะปรากฏว่ามีมนุษย์พืชที่ดูเหมือนหนุ่มเจ้าชู้
แบบประดับอีกแบบหนึ่งบนกำแพงภายในโบสถ์เมือง Exeter ในประเทศอังกฤษ ที่มองดูสวยสดใส อาจมองว่าเป็นภาพของผู้ชายหรือผู้หญิงที่มีเครื่องสวมศีรษะประดับด้วยพรรณไม้ดอกในเทศกาลประจำเมืองก็ได้ ไม่ใช่มนุษย์พืชแบบทั่วไป แบบนี้ไม่เห็นที่อื่นนอกจากที่อังกฤษ และที่เมือง Exeter เท่านั้นด้วย
จากโบสถ์เมือง Ulm ประเทศเยอรมนี
นายช่างอาจจำหลักโดยตรงลงบนหินตรงนั้นเลย เช่นบนหินก้อนใหญ่ที่วางทับหัวเสา หรือบนกำแพงด้านนอกของตัวอาคารโบสถ์ หรือนายช่างจำหลักบนก้อนหินในโรงงานก่อนแล้วนำไปติดตั้งตามที่หมายไว้ ฝีมือจำหลักจะพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพิ่มรายละเอียด แทรกนกตัวเล็กๆ กระรอกหรือสัตว์อื่นเข้าไปด้วย และเน้นความเหมือนจริงมากที่สุด ใบไม้กิ่งไม้ที่จำหลักอยู่โดยรอบก็ดูมีชีวิตชีวาสมจริงทีเดียว ส่วนใหญ่แล้ว แบบที่สวยที่สุดมักเป็นแบบที่ชั่วร้ายที่สุด มองดูน่าเกลียดน่ากลัวที่สุด แต่ทำขึ้นอย่างประณีตและมีศิลป์ เราต้องไม่ลืมด้วยว่าโบสถ์ยุคกลางนั้นดั้งเดิมมีสีทาทับรูปปั้นและประติมากรรมจำหลักที่เป็นแถบยาวบนกำแพง เป็นสีเขียว สีทองและสีอื่นๆ คนยุคกลางดูเหมือนจะชอบสีสันสดๆ แต่ดูเหมือนว่าสีเขียวจะเป็นสีที่เด่นที่สุด เป็นสีที่ชาวตะวันตกชอบด้วยสัญชาติญาณ เพราะเป็นสีของธรรมชาติ Hildegarde of Bingen เคยเขียนระบุความหมายของ viriditas ในภาษาละตินว่าเป็น “the greening of the soul” (ในความหมายว่า จิตวิญญาณเปลี่ยนคล้อยตามสีธรรมชาติ หรือเข้าใกล้ชิดและมีพฤติกรรมตามธรรมชาติ) ความหมายนี้เข้าเป็นอีกหนึ่งนัยของคำ “มนุษย์พืช”
ป่าศักดิ์สิทธิ์
ต้นไม้มีบทบาทสำคัญในวิวัฒนาการชีวิตของคนทั้งในด้านกายภาพและด้านจิตวิญญาณโดยที่ตั้งแต่แรกเริ่มสิ่งมีชีวิตในวงศ์ hominid ([ฮ้อมินิด] เป็นคำรวมที่ใช้เรียกวงศ์ของสิ่งมีชีวิตที่มีมนุษย์รวมอยู่ด้วย) อาศัยอยู่ใต้ร่มไม้ในป่าใหญ่เหมือนลิงพันธุ์ต่างๆที่ยังคงใช้ชีวิตแบบนี้ จากป่าใหญ่ คนรุ่นแรกๆย้ายไปอยู่ในทุ่งหญ้าเขตร้อน ค้นพบ “ไฟ”และรู้จักควบคุมการใช้ไฟ ตั้งแต่นั้นมนุษย์ได้อาศัยต้นไม้เป็นเชื้อเพลิงเสมอมา ไฟกลายเป็นปัจจัยชีวิตที่ผลักมนุษยชาติออกจากความจำกัดของชีวิต สิ่งมีชีวิตอื่นๆยังคงมีชีวิตที่จำกัดเมื่อเทียบกับชีวิตคน ในที่สุดคนเป็นผู้ครองโลก
เมื่อมนุษย์รุ่นแรกๆเริ่มเปลี่ยนวิถีการดำรงชีวิตจากการพเนจรสู่การตั้งถิ่นฐาน สร้างที่อยู่กระท่อม บ้าน สะพาน รั้ว กำแพง ยุ้งฉาง ไม้คงความสำคัญต่อชีวิตคนเรื่อยมา เครื่องมือเกือบทั้งหมดของมนุษย์ในยุคหิน คิดขึ้นเพื่อใช้งานกับไม้ทั้งสิ้น และเป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนถึงยุคการสร้างเมืองใหญ่ๆในยุคกลาง ที่ใช้ไม้เป็นวัสดุก่อสร้างเกือบทั้งหมด เนื่องจากชีวิตคนขึ้นอยู่กับต้นไม้ เกิดความจำเป็นต้องกำหนดพื้นที่ป่าบางส่วนเพื่อให้ต้นไม้ต้นอ่อนๆเติบโตสำหรับใช้ในอนาคต (เรียกบริเวณดังกล่าวว่า เป็นป่าละเมาะหรือป่าแสม-coppice) ยุคนั้นคนจะตัดต้นไม้ในบริเวณดังกล่าวทุกๆสี่ถึงสิบปี โดยตัดเหนือรากหรือตอไม้ เพื่อกระตุ้นให้ต้นไม้เติบโตขึ้นใหม่บนฐานใหญ่และแข็งแรง วิธีการนี้ปรากฏว่าได้ผลดีกับต้นไม้หลายพันธุ์เช่น Hazel (ต้นนัท) ที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในส่วนอื่นๆของป่าไม้ ผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชน นักบวช หรือหมอผี เป็นผู้กำหนดบริเวณศักดิ์สิทธิ์ในป่าเพื่อประกอบพิธีกรรม เป็นที่รวมของชาวบ้าน เป็นที่สวดภาวนาตามความเชื่อของชุมชน ป่าศักดิ์สิทธิ์จึงเป็นบริเวณที่ธรรมชาติเป็นผู้บริหารพื้นที่นั้นเอง จารึกโบราณแจกแจงว่า นักรบกรีกผู้ไปรบศึกมีชัยชนะกลับถึงถิ่นตน จะนำเครื่องสักการะเช่นหนังสัตว์ เขาสัตว์ เครื่องมืออาชีพหรือเพชรนิลจินดา(ในกรณีของผู้ร่ำรวย) และอาวุธที่ดีที่สุดที่เขาใช้ ไปแขวนไว้บนต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ แสดงความรู้คุณ อาวุธนั้นแขวนทิ้งไว้ที่นั่นจนมันผุพังไปเอง ในยุคก่อนนั้น คนรู้จักคุณประโยชน์ของป่าไม้และรู้สำนึกในบุญคุณ แต่คนยุคใหม่ยุคหลังๆนี้สิ ที่ลืมพัฒนาจิตสำนึกดังกล่าว
ธรรมเนียมสังคมหรือศาสนาแรกๆของมนุษยชาติ ทำกันใต้ต้นไม้ ในทุกทวีป มนุษย์รู้จักเลือกสรรต้นไม้พิเศษเพื่อกิจกรรมพิเศษ ที่ประกอบพิธีแห่งแรกๆของมนุษยชาติเป็นแท่นสูงแบบง่ายๆ ตั้งไว้ใต้ต้นไม้พิเศษที่พวกเขาเลือก แล้วนำเครื่องสักการะบูชาไปจัดวางบนแท่นนั้น ต่อมา เริ่มมีการสร้างอาคารที่ใช้เป็นวัดขนาดเล็กใกล้แท่นบูชานั้น แท่นบูชาอยู่ในที่โล่งแจ้งเพราะมีการฆ่าสัตว์และเผาสังเวย ต้องการให้ควันไฟที่ลุกขึ้นจากแท่นบูชาลอยขึ้นสูงเบื้องบนในท้องฟ้าที่สถิตของเทพเจ้า อาคารวัดขนาดใหญ่มหึมาเช่นที่ Acropolis (ที่มีความหมายตรงตามตัวว่า เมืองป้อมปราการเนื่องจากตั้งอยู่บนเนินเขาสูง) เมืองอาเธนส์ ยังมีป่าไม้ศักดิ์สิทธิ์และต้นไม้พิเศษที่เกี่ยวโยงกันอยู่ ในความเป็นจริงแล้วนักวิจัยต่างเห็นต้องกันว่า ป่าละเมาะศักดิ์สิทธิ์ในวิถีชีวิตของชาวกรีกในยุคโบราณ เป็นเอกสารข้อมูลที่เฉพาะเจาะจงของอารยธรรมกรีก ยิ่งกว่าตัวอาคารหินอ่อนสีขาวอาคารใด ดังที่รู้กันแล้วว่า เทพเจ้ากรีกแต่ละองค์ เกี่ยวโยงไปถึงต้นไม้พิเศษต้นหนึ่งต้นใดอย่างเฉพาะเจาะจง และชาวกรีกก็ไปเคารพสักการะเทพเจ้าแต่ละองค์ใต้ต้นไม้นั้นๆ เช่นต้น Laurel (ลอเรล) เป็นต้นไม้ประจำเทพ Apollo ต้น Myrtle tree (ต้นพังพวยฝรั่ง) เป็นต้นไม้ประจำของเทพ Aphrodite (ที่เราเรียกว่าเทพวีนัสตามชาวโรมัน) ต้น Olive (มะกอกฝรั่ง) ของเทพ Athena และต้นสนของเทพ Pan เป็นต้น คำนาม gods ที่เราในยุคใหม่เรียกเทพเจ้านั้น ในความหมายดั้งเดิมของยุคโบราณคือวิญญาณต้นไม้ที่ชาวบ้านเคารพบูชา และหากเราคิดทบทวนความเป็นจริงในประวัติศาสตร์ ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ชาวเมืองอาเธนส์เคารพวิญญาณต้นมะกอก (เทพอาเธนา Athena) เพราะชาวเมืองร่ำรวยจากการค้าขายผลมะกอกฝรั่ง เหมือนที่ชาวเลบานอนมั่งคั่งเพราะการค้าต้น Cedar-of-Lebanon (ที่เป็นต้นไม้พันธุ์สนขนาดยักษ์ที่แผ่กิ่งก้านงดงามกว้างใหญ่มากและเป็นต้นไม้ที่ประดับธงชาติของประเทศเลบานอน ต้นไม้นี้มีนัยความหมายลึกซึ้งสำหรับชาวเมืองเลบานอนมากที่สุด) หรือต้นปาล์ม (พันธุ์ Phoenix dactylifera) ที่เป็นสินค้นทำเงินของชาวเมือง Phoenicia (ฟีนีเซีย คือประเทศซีเรียในปัจจุบัน) และชื่อต้นปาล์มกลายเป็นชื่อเรียกประเทศเลย ความเชื่อเกี่ยวกับเทพบดี Zeus (หรือ Jupiter ของชาวโรมัน) พัฒนาจากตำนานนางไม้ผู้ประจำต้นโอ๊คในป่าละเมาะศักดิ์สิทธิ์ที่ชื่อว่า Sacred Grove of Dodona (ต้นโอ๊คนี้เป็นต้นไม้ที่ให้คำพยากรณ์) ชาวกรีกเดินทางไปสักการะบูชาต้นโอ๊คนั้นติดต่อกันมาสองพันกว่าปีจนถึงราวศตวรรษที่ 4 เพราะความศักดิ์สิทธิ์ในคำทำนายทายทัก การทำนายทายทักจากต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ในกรีซโบราณที่เลื่องลือนามอีกแห่งหนึ่งคือ ที่เมือง Delphi (เด๊ลฟี) ในเทวสถานที่อุทิศให้เทพอพอลโลโดยมีต้นลอเรลเป็นต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ที่นั่น ทำเนียมจากกรีซโบราณที่ต่อมาคริสต์ศาสนารับไปใช้ คือ ป่าศักดิ์สิทธิ์โอบรับคุ้มครองผู้ที่ถูกข่มเหงจากสังคมไม่ว่าในด้านการเมืองหรือกฎหมาย
ชาวโรมันรับขนบธรรมเนียมหลายอย่างของชาวกรีกไปใช้ซึ่งรวมถึงเทพบรรษัทกรีกทั้งหมด(โดยไปตั้งชื่อเรียกเป็นแบบโรมัน) และค่านิยมเกี่ยวกับต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ด้วย ป่าศักดิ์สิทธิ์จำนวนมากไปตั้งอยู่ในเทือกเขาเจ็ดลูกที่ล้อมรอบกรุงโรม เล่ากันว่า King Numa ได้รับกฎบัญญัติแห่งโรมจากนางไม้ Egeria [อิเจ๊อเรีย] ผู้ประจำอยู่ในต้นโอ๊คในป่าแห่งหนึ่ง ต้น Fig tree (หรือต้นมะเดื่อ สกุล Ficus) ก็เป็นที่สักการะในฐานะที่เป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงาแก่หมาป่าผู้ให้นมเลี้ยงดูเด็กชายสองคน Romulus และ Remus (ตำนานเล่าว่าต่อมา Romulus เป็นผู้สร้างกรุงโรม)
ชนชาวเคลต์และชนเผ่าเยอเมนิค ไม่เคยสร้างวัดโดยรอบแท่นบูชาในป่าศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขา เผ่า Anglo-Saxon (แองโกลแซกซอน) และเผ่านอร์ซ (Norse) มักรวมกันใต้ต้นไม้ศักดิ์สิทธิ์ของพวกเขาโดยเฉพาะ ซึ่งคือต้น Yew และต้น Lime (Linden) ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมปรึกษาหารือกัน การตัดสินคดี การฉลองเทศกาลหรือโอกาสสำคัญๆอื่นใด มีจารึกโบราณ (ในหนังสือ Germania, 27 ของ Tacitus นักประวัติศาสตร์ชาวโรมันมีชีวิตอยู่ในคริสต์ศตวรรษที่หนึ่ง) เล่าไว้ว่า เผ่าเยอเมนิคฝังศพผู้ตายไว้ในป่าใต้ต้นไม้ต้นเฉพาะที่เกี่ยวกับผู้ตาย แสดงวิญญาณสำนึกของชนเผ่านั้นว่า ต้นไม้เป็นผู้พิทักษ์ของพวกเขาทั้งในยามมีชีวิตและในยามตาย ส่วนพวกพระและหมอ(ผี) (ที่เรียกกันว่า shamans) ใช้พลังอำนาจของชีวิตในธรรมชาติอันอุดมภายในป่าลึก เป็นที่ประกอบพิธี นักบวชดรูอิดนำหินไปตั้งเรียงเป็นวงล้อม (ในลักษณะของ Stonehenge ชานเมือง Salisbury ในประเทศอังกฤษ) การตั้งหินเป็นวงล้อมแบบนี้มีมาแล้วตั้งแต่ปลายยุคหิน (ราวหนึ่งหมื่นปีก่อน)[3] แต่ศูนย์กลางของกิจกรรมทั้งหลายในลัทธิดรูอิดยังคงอยู่ในบริเวณป่าศักดิ์สิทธิ์ การตั้งหินแบบนี้สืบมาจากขนบธรรมเนียมในหมู่ชนชาติยุคหินสมัยหลังๆ น่ารู้ด้วยว่า คำ druid (ดรูอิด) มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตว่า dru (ที่มาเป็นภาษาบาลีว่า รุกข) แปลว่า ต้นไม้ บวกกับคำว่า wid, vid (ที่แผลงมาจากคำในภาษาอินโดยุโรเปียน) แปลว่า ความรู้ การมองเห็น นักบวชดรูอิดจึงเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับต้นไม้เกี่ยวกับป่าไม้ พวกเขาผ่านการฝึกฝนในป่าลึกมาแล้วอย่างน้อยยี่สิบปีก่อนจะได้เป็นนักบวชเต็มตามความหมาย ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับต้นไม้ยังเป็นพื้นฐานของระบบอักษรดรูอิด (เรียกว่า Ogham) อักษรแต่ละตัวมาจากชื่อต้นไม้ต้นหนึ่ง
อักษรของมนุษย์ยุคแรกๆนั้น เป็นเหมือนแหล่งข้อมูลที่จะถ่ายทอดถึงกันในหมู่ชนร่วมเผ่า ทั้งยังเป็นเครื่องมือของการทำนายทายทักและของเวทมนตร์คาถา เพราะฉะนั้นระบบอักษรจึงคือระบบความคิดอ่านที่โยงไปถึงพลังสำคัญๆที่เอื้ออำนวยชีวิต ในแง่นี้อาจกล่าวได้ว่าการประดิษฐ์ระบบอักษรขึ้นใช้ เป็นปัจจัยนำการเปลี่ยนแปลงแก่สังคมมนุษย์มากยิ่งกว่าการเกษตรเสียอีก
ในวัฒนธรรมของชนหลายเชื้อชาติ การรู้จักอ่าน เขียนและการเรียนรู้ เกี่ยวพันกับต้นไม้อย่างแน่นแฟ้น เช่นตามความเชื่อในอียิปต์โบราณ เทพเจ้าแห่งคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ (Djahuti หรือ Thoth) หรือเทพสตรีผู้ประจำต้นไม้แห่งความรู้ (Seshat) เป็นผู้จารึกชื่อของฟาโรห์เจ้าผู้ครอง ลงบนใบไม้แห่ง “ต้นไม้โลก” (Egyptian World Tree ในตำนานของชนเผ่าโบราณเกือบทุกชาติ ต่างมี “ต้นไม้โลก” กันทั้งนั้น) เพื่อยืนยันและประกันว่าฟาโรห์องค์นั้นจะมีชีวิตชั่วนิจนิรันทร์ ตำนานของชนเผ่านอร์ซ (Norse ในนอร์เวย์และสแกนดิเนเวียในปัจจุบัน) Odin [โอดิน] เทพเจ้าแห่งท้องฟ้า แขวนตัวศีรษะห้อยลงจากต้นไม้โลกอยู่นานเก้าวันเก้าคืน เพื่อดูดรับความรู้จากพื้นโลก และในที่สุดเป็นผู้นำระบบอักษรมามอบแก่มวลชนชาวนอร์ซ (เป็นระบบอักษรคล้ายๆกับระบบอักษรดรูอิด - Celtic Ogham) หนังสือเล่มแรกๆของชาวยุโรปเขียนจารึกลงบนแผ่นไม้จากต้น Beech ในภาษายุโรปหลายภาษา คำ “หนังสือ” และคำเรียกต้น Beech เป็นคำเดียวกัน เช่นในภาษาเยอรมัน ใช้ Buch (หนังสือ) Buche (ต้น Beech) ในภาษาสวีเดนใช้คำ bok เดียวกันที่หมายถึงหนังสือหรือต้น Beech เป็นต้น
ต้นไม้มีความสำคัญยิ่งต่อชีวิตคน ชาวเคลต์หลายเผ่าใช้ชื่อต้นไม้เป็นชื่อเรียกเผ่าเลย เช่น ชื่อเผ่า Eurobones หรือ Eburovices จากชื่อต้น Yew ในภาษาโกลว่า eburos ชนเผ่า Lemnovices ในภาษาชาวโกลที่หมายถึง ชาวต้น Elm หรือชนเผ่า Arverni คือชนเผ่าจากดินแดนต้น Alder เป็นต้น (ทำให้นึกถึงในสมัยใหม่ ที่นิยมใช้ชื่อดอกไม้เป็นชื่อผู้หญิง เช่น Rose, Marguerite, Violet, Lily เป็นต้น)
การใช้ต้นไม้หรือป่าต้นอะไรอย่างเฉพาะเจาะจงในบริบทสังคมและศาสนานั้น มีมาแล้วในหมู่ชนตั้งแต่ยุคสัมฤทธิ์และยุคเหล็ก หินก้อนแรกๆที่ถูกนำไปจัดตั้งเป็นวงล้อมที่ Stonehenge ในประเทศอังกฤษเมื่อราวปี 2550 BC.นั้น เป็นการนำหินเข้าไปตั้งแทนที่ของต้นไม้ต่างๆที่เคยมีที่นั่นมาก่อน การขุดพบซากเสาไม้เป็นวงกลมลึกลงไปใต้พื้นของบริเวณที่จอดรถที่ Stonehenge และที่ตรวจพิสูจน์อายุของซากไม้เหล่านั้นได้ว่า มีอายุเก่ากว่าเสาหิน Stonehenge ถึงสามสี่พันปี ทำให้นักประวัติศาสตร์ยืนยันว่า วงล้อมหินที่ Stonehenge และที่ Averbury เคยมีเสาต้นไม้ล้อมรอบมาก่อน (เพราะต้นไม้เป็นส่วนสำคัญในพิธีกรรม) ในปัจจุบันยังไม่มีการยืนยันอย่างแน่นอนว่า ป่าศักดิ์สิทธิ์ใช้เป็นที่ทำอะไรกันบ้าง และมีกิจกรรมใดที่ทำกันในหรือโดยรอบบริเวณวงล้อมเสาต้นไม้ในที่โล่งกลางแจ้ง เป็นไปได้ที่งานฉลองส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่โล่งกลางแจ้ง แทนที่จะทำภายในป่าศักดิ์สิทธิ์ที่มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นกว่า
ต้นไม้มีความรู้สึก
ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนใกล้หรือคนไกลต้นไม้ ต่างตระหนักแก่ใจว่าต้นไม้เป็นมากกว่าพืชพรรณที่นิ่งอยู่กับที่ไม่มีวิญญาณ ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความรู้สึก และมีวิธีแสดงความรู้สึกด้วยวิธีของมันเอง เราได้ยินได้ฟังกันหนาหูมากขึ้นทุกทีว่า ต้นไม้มีปฏิกิริยาต่อสิ่งที่ไปกระตุ้นมันทุกชนิด สิ่งที่ข่มขู่มันหรือสิ่งที่ทำให้มันพอใจ เหมือนกับคนที่มีความรู้สึกเศร้า หงอยเหงา อ้างว้าง เบื่อหน่าย หรือมีความพอใจที่มีผู้ดูแลเอาใจใส่อยู่รอบข้าง อาจถึงเวลาแล้วที่เราต้องยอมรับว่า ต้นไม้มีมโนสำนึก และเหมือนคนที่มีชีวิต มีความหวัง กลัวเจ็บและกลัวตาย
นักวิจัยเกี่ยวกับต้นไม้ ได้อาศัยเทคนิคสมัยใหม่แบบต่างๆ เพื่อทดลองหาปฏิกิริยาของต้นไม้และเรียนรู้โครงสร้างภายในของต้นไม้ มีการพิสูจน์ให้เห็นว่า ต้นไม้มีปฏิกิริยาต่อความเจ็บ ต่อการถูกทำร้าย และยังจดจำไว้อีกด้วย ถึงขนาดเกิดปฏิกิริยาฉับพลันเมื่อผู้ที่เคยทำร้ายมันหวนกลับไปหามันอีกหรือไปปรากฏตัวในรัศมีที่ต้นไม้รับรู้ได้ แต่ เราก็ไม่พูดว่าต้นไม้มีโลกทัศน์ หรือมีความเข้าใจเหมือนคน ต้องพูดไปในแง่ว่ามันรู้สึกได้และจดจำความรู้สึกนั้นในรูปของพลังงานความร้อนเป็นต้น
ในทศวรรษที่ 1950 นักวิศวกรชาวรัสเซียและภรรยา Semyon Kirlian & Valentina ได้ค้นพบเทคนิคที่เรียกกันต่อมาว่า Kirlian photography เทคนิคนี้อาศัยกระแสไฟฟ้าแรงสูง (ระหว่าง 30,000-50,000 วอลต์) เข้ากระตุ้นแผ่นฟิล์มถ่ายภาพ สร้างแผ่นฟิล์มนั้นให้เป็นสนามไฟฟ้าแรงสูง เมื่อนำแผ่นฟิล์มสนามไฟฟ้าเข้าใกล้วัตถุหนึ่งที่ต้องการบันทึกภาพ ปฏิกิริยาระหว่างวัตถุนั้นกับคลื่นไฟฟ้าบนสนามฟิล์มนั้น ถูกบันทึกออกมาเป็นภาพได้ ให้ภาพลักษณ์ของปฏิกิริยาตอบโต้ระหว่างคลื่นไฟฟ้าจากวัตถุและจากแผ่นฟิลม์ วัตถุที่เป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดี ให้ภาพของพื้นผิวหน้าของวัตถุนั้น ส่วนวัตถุที่มิใช่ตัวนำไฟฟ้าจะเห็นภาพภายในโครงสร้างของวัตถุนั้น วัตถุที่ไม่มีชีวิตให้ภาพคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง ในขณะที่วัตถุที่มีชีวิตให้ภาพที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ในกรณีหลังนี้ ภาพที่เห็นเป็นสนามพลังงานที่มีในสรรพชีวิต บางคนมองว่า รูปลักษณ์ สีและความเข้มมากน้อยของสนามพลังงานนั้น เป็นภาพสะท้อนของพลังงานทางกายและทางจิตของสิ่งมีชีวิตนั้น ข้อมูลที่ได้จากภาพในเทคนิคนี้ อาจช่วยให้แพทย์ผู้บำบัดสามารถแกะรอยความผิดปกติภายในร่างกายได้ดีขึ้น ช่วยการวิเคราะห์ด้วยการเปรียบเทียบสภาพเนื้อเยื่อปกติและเนื้อเยื่อที่ติดเชื้อ เช่นกรณีเนื้อเยื่อมะเร็งเป็นต้น ในอนาคต ระบบคอมพิวเตอร์ จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากรูปแบบต่างๆของปฏิกิริยาไฟฟ้าในสนามพลังงาน ให้ข้อมูลพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับเนื้อเยื่อแนวใหม่ (ทำกันได้แล้ว เช่นระบบ MRI)
เมื่อนำเทคนิคนี้ถ่ายภาพต้นไม้ ผลที่ได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่า ต้นไม้หรือแม้ใบไม้เปลี่ยนพฤติกรรมไปตามสภาพความรู้สึกหงอยเหงา กังวล อมเศร้า หรือกำลังมีความสุข การทดสอบครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อถ่ายภาพปฏิกิริยาของสนามพลังงานของต้นไม้เมื่อมีสิ่งกระตุ้นแบบต่างๆ เช่น เมื่อวางอะไรสีสดๆ หรือสีทึบๆไว้ใกล้มัน หรือเมื่อปล่อยเสียงเข้าไปในปริมณฑลที่ต้นไม้อยู่ เสียงทุกแบบ ทั้งเสียงดนตรี เสียงร้องที่แสดงความลิงโลดใจ หรือเสียงร้องไห้ครวญคราง ผลที่ได้ทำให้สรุปกันว่า ต้นไม้หรือพืชพรรณ “มีความรู้สึกอะไรสักอย่าง” เพราะภาพสนามพลังงานของต้นไม้ในสภาพแวดล้อมต่างๆกันไม่เหมือนกันเลย หรือ ต้นไม้มีปฏิกิริยาต่อสิ่งกระตุ้นสิ่งเร้าไม่เหมือนกันเลย
ในอนาคตอันใกล้นี้ อาจเป็นไปได้ที่จะผลักการทดลองให้ไกลออกไปอีกเพื่ออธิบายว่า ทำไมพืชพรรณทุกชนิดไม่มีปฏิกิริยาแบบเดียวกันต่อสิ่งกระตุ้นที่เหมือนกันทุกประการ เช่นมีการทดลองให้ต้น Williow และต้น Poplar ฟังดนตรีของ Mozart ทั้งสองต้นแสดงปฏิกิริยาไม่เหมือนกัน ในทำนองเดียวกับที่หากขับเพลงโศกใกล้ต้น Ash กับต้นOlive ปฏิกิริยาที่เห็นจากทั้งสองต้นก็ต่างกันมาก หรือยิ่งคนหนึ่งสื่อสารพูดคุยกับต้นไม้มาก ต้นไม้ยิ่งมีปฏิกิริยา ทำความคุ้นเคยกับเสียงคนพูด กับคำพูดและเสียงสูงต่ำของคนพูด ความคุ้นเคยที่ต้นไม้สั่งสมเกี่ยวกับคนนั้น มีส่วนอธิบายว่า ทำไมต้นไม้ไม่ออกดอกเลยเมื่อคนที่เคยพูดคุยกับมันหายหรือจากไป และทำไมต้นไม้หยุดให้ผลไม้เป็นเวลานานหลายฤดู เมื่อเกิดการเปลี่ยนคนสวนที่เคยทำงานอยู่ในบริเวณนั้น นอกจากนี้ วิวัฒนาการการถ่ายภาพในปัจจุบันทั้งด้วยระบบความเร็วสูงและระบบลดความเร็ว ก็เผยให้เห็นอย่างชัดเจนถึงปฏิกิริยาของต้นไม้พืชพรรณที่มีต่อสิ่งกระตุ้นรอบข้าง ที่เป็นความมหัศจรรย์ยิ่งนักสำหรับสายตาคนที่มีศักยภาพค่อนข้างจำกัดเมื่อเทียบกับกล้องถ่ายภาพสมัยปัจจุบันหลายประเภท ทั้งหมดนี้เอื้ออำนวยต่อความเข้าใจโลกของพืชพรรณอย่างไม่มีอะไรเสมอเหมือน
ผลจากการทดลองดังกล่าว อาจกระตุ้นให้เราเข้าใกล้ชิดต้นไม้มากขึ้น เราอาจสื่อสารกับต้นไม้ได้ด้วยวิธีต่างๆหลายวิธีทีเดียว มีทั้งวิธีง่ายๆและวิธีซับซ้อน แต่วิธีง่ายๆมักเป็นวิธีที่ดีที่สุดเสมอ อาจจะเป็นการพูดด้วย การลูบไล้ การมอง การถามอย่างตรงๆ การขออะไรจากต้นไม้ วิธีการเหล่านี้ชาวตะวันตกนึกไม่ถึงและไม่ยอมเชื่อก็มีมาก น้อยคนที่จะยอมลดตัวไปถามต้นไม้ว่ามันสบายดีหรือ มันตั้งใจจะออกดอกออกผลไหม เพราะเขาสามารถออกไปซื้อปุ๋ยมาโรยใต้ต้นไม้นั้นก็จะได้ดอกได้ผลสมใจ ง่ายกว่ามากและไม่ถูกมองว่าเสียสติ แต่เป็นสิ่งที่คนลองทำดูได้ ถ้าไม่ลอง ย่อมไม่รู้ หรือไม่ได้อะไร บางทีอาจให้ผลดีเกินคาดก็ได้ ผู้ที่เคยทดลองยืนยันว่านั่นเป็นสิ่งที่ตรวจสอบได้จริงๆ เช่นไปขู่ต้นไม้ที่หยุดให้ดอก ยังผลให้ให้ต้นไม้นั้นออกดอกในฤดูถัดมา ไปปลอบหรือไปขอบใจต้นไม้เมื่อมันให้ผลงาม จะเห็นว่าต้นไม้นั้นยิ่งให้ผลงามมากขึ้นอีกในปีถัดมา (เมื่อไม่มีปัจจัยเรื่องสภาพอากาศที่แปรปรวนรุนแรง พายุผิดฤดู ที่กระหน่ำต้นไม้นั้น สภาพอากาศเป็นเรื่องสุดวิสัยของทั้งคนและต้นไม้)
คิดในทางกลับกัน ต้นไม้พืชพรรณอาจพยายามส่งสารให้คนเข้าใจความรู้สึกของมันว่าทุกข์ สุข เบิกบานหรือกลัวฯลฯ เช่นแม้เมื่อมีหิมะตกปกคลุมเต็มกิ่งในฤดูหนาว หรือความร้อนแผดเผาที่ทำให้ใบไม้แห้งกรอบ หากยังมีคนปลูกคนดูแลอยู่ใกล้ๆ ก็จะช่วยต้นไม้จากความกลัวความเศร้า ต้นไม้แสดงการรับรู้ด้วยวิธีของมันที่เราต้องเรียนจากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงที่มีกับต้นไม้ ตำนานต่างๆยังเล่าสืบมาว่า ต้นไม้รู้สึกร่วมในความทุกข์ ความกังวลของเรา และพยายามช่วยเราด้วยวิธีของมันเอง เราจึงควรจะมีความรู้สึกทำนองเดียวกันต่อต้นไม้ด้วย
การปลูกต้นไม้บางชนิดไว้ด้วยกันเป็นหมู่ละเมาะพิเศษ กลายเป็นป่าศักดิ์สิทธิ์ของนักบวชคติโบราณต่างๆ เป็นพยานยืนยันว่า เหล่านักบวชสมัยนั้นมีความรู้ว่า ต้นไม้สื่อสารระหว่างกันเอง ตั้งแต่นั้นมา นักวิจัยสมัยหลังๆพิสูจน์กันแล้วว่าจริงอย่างที่คนโบราณเชื่อและรู้ นอกจากนี้เรารู้กันแล้วว่า พฤติกรรมทั่วไปของกลุ่มต้นไม้เปลี่ยนไป เมื่อมีผู้เดินผ่านเข้าไปในป่านั้น เพื่อไปเดินเล่นพักผ่อน หรือเพื่อไปตัดไม้ ตำนานเก่าๆมักโยงพฤติกรรมของต้นไม้ไปถึงนางฟ้าและนางไม้ (dryad [ไดร๊-แอ็ด])
แน่นอนที่ปฏิกิริยาของต้นไม้พืชพรรณนั้น มีจำกัดแต่ก็อาจแสดงออกได้หลายวิธี เช่นการกระจายอณูกลิ่นที่ดึงดูด ขับไล่ หรือทำให้พวกแมลงตื่นตระหนก หรือการส่งสาร tannin [แท้-นิน] ออกเป็นปริมาณจากใบไม้เพื่อขับไล่เหล่ากาฝากที่เข้าไปบุกรุกรบเร้าต้นไม้ หรือด้วยการหดตัวของใบไม้ หรือการเปลี่ยนแปลงของสีบางจุดบางหย่อมบนต้นไม้ เพื่อให้สิ่งที่ไม่พึงปรารถนาผละออกไป ปฏิกิริยาเหล่านี้แตกต่างกันไปแล้วแต่ชนิดพืชพรรณและผู้ที่เข้าไปยุ่งเกี่ยวด้วย(แมลงหรือคนเป็นต้น) ต้นไม้บางชนิดไม่รีรอที่จะใช้ตัวต่อมาเป็นกองทหารหนุน ด้วยการส่งอณูโมเลกุลสารบางชนิดออกจากต้นไม้ไปในอากาศโดยรอบ อณูโมเลกุลเหล่านี้ไปกระตุ้นตัวต่อที่อยู่บนต้นไม้นั้นให้ลุกฮือ และเข้าโจมตีทุกคนที่เข้าใกล้ต้นไม้ โดยที่เหล่าตัวต่อเองปลอดภัย และต้นไม้ก็ไม่ถูกตอแยอีก
เมื่อเราไม่อาจออกเดินทางไปในป่า หรือโยกย้ายไปอยู่ในบริเวณที่มีป่าไม้ มีต้นไม้สูง ที่เป็นประโยชน์ต่อคนโดยตรง เราก็ยังอาจเป็นพยานชีวิตพืชพรรณ อาจชื่นชมดูความเจริญเติบโตของมันจากต้นไม้ที่เรานำมาปลูกในบ้าน เป็นต้นอะไรก็ได้ เป็นบ็อนไซก็ดี การเลี้ยงดูบ็อนไซ แม้ว่าต้นไม้ต้องทนทรมานถูกจัดให้อยู่ในที่เล็กคับแคบ ถูกตัดถูกเล็มให้มันกลายเป็นต้นแคระผิดธรรมชาติที่แท้จริงของมัน แต่หากผู้เลี้ยงให้ความรักมันอย่างแท้จริง คอยดูแลมันและจัดแต่งให้มันเป็นแบบความงามแบบหนึ่ง ในที่สุดต้นบ็อนไซนั้นก็รับสภาพใหม่ของมันได้ และมิได้หยุดนิ่ง กลับเข้าร่วมในชีวิตของผู้ปลูกผู้เลี้ยง ทั้งยังมอบพลังเสริมให้แก่ผู้นั้น และทำให้สภาพแวดล้อมโดยรอบมีดุลยภาพ เพราะฉะนั้นผู้ที่เลี้ยงบ็อนไซและตัดเล็มมันด้วยความรัก ในที่สุดกลายเป็นผู้ฉลาดสุขุมน่านับถือ หน้าตาเบิกบานแจ่มใส เหมือนอิ่มเอิบอะไรสักอย่าง
เหมือนสมาชิกในสมาคมกลุ่มหนึ่ง ต้นไม้บางต้นชอบพอ ถูกอกถูกใจกับต้นไม้อื่นบางต้น ในขณะที่มีต้นไม้หลายต้นหลายประเภทที่ทนอยู่ด้วยกันไม่ได้ จนอาจถึงกับทำลายโค่นล้างกันเลยก็มีถ้าถูกบังคับให้อยู่ด้วยกัน เพราะฉะนั้น นักบวชโบราณรู้ดีว่าต้องปลูกต้นไม้ชนิดใด จัดกลุ่มอย่างไรในป่าศักดิ์สิทธิ์ ความรู้นี้สำคัญมากเพราะสื่อถึงมิตรภาพในหมู่ต้นไม้ต่างชนิด และมิตรภาพระหว่างต้นไม้กับคน รวมกันแล้วสร้างเป็นศูนย์รวมพลังงานที่สมดุลและสมบูรณ์ ในดุลยภาพดังกล่าวป่าศักดิ์สิทธิ์ จึงเอื้ออำนวยต่อจินตนาการ ต่อการ “เห็น” นิมิตอัศจรรย์ต่างๆที่ชาวโบราณขนานนามเรียกว่าเทพเจ้า และที่คนสมัยปัจจุบันคิดว่าเป็นจินตนาการบริสุทธิ์ของคนนั้นเอง
ข้อพึงระวังอย่างยิ่ง คือต้องไม่ละเลยต้นไม้ใดให้อยู่โดดเดี่ยวในที่ไม่มีคนอยู่(กรณีปลูกไว้ในบ้าน) เพราะจะทำให้สุขภาพต้นไม้แย่ลงเรื่อยๆ หยุดให้ดอกให้ผลในที่สุด ต้นไม้เหมือนคน มันกลัวความโดดเดี่ยว เปิดหน้าต่างไว้เพียงบานเดียว ให้มีแสงแดดส่องไปถึง ให้มีเสียงนกร้องจากข้างนอกที่เข้าไปถึงต้นไม้ได้ ก็ทำให้ต้นไม้ที่เรานำไปปลูกในบ้านรู้สึกว่าอยู่ในแวดล้อมธรรมชาติ ในแวดล้อมของ “มโนสำนึก” หินสองสามก้อนจัดอย่างถูกต้องใต้ต้นไม้ ก็ช่วยได้มากเช่นกัน เพราะต้นไม้ชอบที่จะพบคลื่นสะเทือนในหินที่ต้นไม้จะรับ แลกเปลี่ยนและปรับตัวให้สมดุลกับคลื่นนั้น อย่างไรก็ดี สรุปกันไว้ว่า ไม่มีอะไรดีไปกว่าคำพูดของคน ไม่มีอะไรดีไปกว่าความรักที่คนมอบให้กับเพื่อนผู้สงบปากสงบคำ เพื่อนผู้เก็บความทรงจำของคนทั้งตระกูลทั้งบ้าน น่าเสียดายว่าน้อยคนนักจะนึกไปถึงจุดนั้น
หาต้นไม้เพื่อนคู่ใจของเรา
สำหรับเราคนไทย ต้นไม้พืชพรรณของบ้านเราไม่เหมือนกับที่มีในยุโรป ตารางต้นไม้อุปถัมภ์ดวงกำเนิดของเหล่าดรูอิด อ่านแล้วอาจรู้สึกเหินห่าง เพราะเราไม่มีโอกาสไป “พบ” ต้นไม้เหล่านั้น อย่างไรก็ดี หากผู้อ่านเห็นด้วยว่าต้นไม้มีพลังดีๆที่น่าเรียนรู้และใฝ่หา ก็น่าจะลองสรรหาต้นไม้ประจำตัว ต้นไม้ที่เราจะยึดเป็นเพื่อน เป็นผู้อุปถัมภ์ ผู้เขียนมีความเห็นว่า วิธีการของชาวยุโรป วิธีเข้าถึงต้นไม้ วิธีการคิดของพวกเขา น่าจะนำมาปรับใช้กับเราชาวไทยได้ ทั้งยังเป็นแนวทางให้ชาวตะวันออกเข้าถึงระบบความคิด การโยงสิ่งหนึ่งไปยังอีกสิ่งหนึ่งในระบบการศึกษาและในจิตสำนึกของชาวตะวันตก
การแสวงหาต้นไม้เฉพาะของเราเอง เหมือนการแสวงหาเพื่อน การทำความรู้จักกับคนๆหนึ่งที่เราชอบและอยากเป็นเพื่อนกับเขา เราต้องให้เวลาแก่เขา หาโอกาสพูดคุยด้วยบ่อยๆเพื่อเรียนรู้นิสัยซึ่งกันและกัน ต้องค่อยๆสานไมตรีจนในที่สุดเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันมากขึ้นๆและคนนั้นกลายเป็นเพื่อนแท้ของเราและเราก็เป็นเพื่อนแท้ของเขา มิตรภาพที่ได้จะเป็นสิ่งเกื้อกูล ส่งเสริม และพัฒนาชีวิตของเรา ต้นไม้ก็เช่นเดียวกัน เราต้องใช้เวลาสรรหา ต้องแสดงความสนใจ ต้องไปหาบ่อยๆ ต้องพูดคุยด้วยมากๆ เพื่อให้ต้นไม้ยอมรับเรา การยึดสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน ก็เป็นไปในทำนองเดียวกันและเห็นได้ชัดเจนกว่า เนื่องจากสัตว์เลี้ยงเคลื่อนไหวและมีปฏิกิริยาที่คล้ายคลึงกับคนและเข้าใจได้ง่ายกว่า อีกประการหนึ่งสัตว์เลี้ยงที่เป็นเพื่อนมาหาเราได้ แต่ต้นไม้อยู่กับที่ เราต้องเป็นฝ่ายออกไปหา ออกไปอยู่ด้วย
การเลือกต้นไม้ ต้นที่จะกลายเป็นเพื่อนเรา ต้องไม่เลือกอย่างฉาบฉวย ต้องปล่อยให้สัญชาติญาณเป็นผู้เลือก การเลือกในที่สุดคือการค้นพบสิ่งที่ตรงกัน สอดคล้องกันอย่างเหมาะเจาะกลมกลืนกับธรรมชาติของเราเอง การเลือกจึงเป็นการค้นพบตนเองอย่างหนึ่ง
เริ่มแรกเป็นการดีที่จะไปในป่าไม้ ป่าละเมาะ วนอุทยาน หรือในสวนสาธารณะเป็นต้น ไปอยู่ในที่ไม่มีคนพลุกพล่านมาก ในที่เอื้ออำนวยให้เรามีสมาธิ ที่เราสามารถลืมทุกอย่างในชีวิตประจำวัน สลัดปัญหาต่างๆออกทิ้ง หยุดคำนึงถึงเวลา ให้เดินไปช้าๆ ฝีเท้ามั่นคงสม่ำเสมอ อย่าให้มีความคิดอื่นใดมาเป็นม่านกั้นระหว่างคุณกับต้นไม้ หายใจลึกมากที่สุดที่ทำได้ หลายๆครั้งเราจะรู้สึกผ่อนคลาย จิตใจเปิดออก โอบอุ้มบรรยากาศในป่า บรรยากาศของธรรมชาติ หรือของสวนนั้นเข้าไปเต็มหัวใจ ปล่อยให้วิญญาณป่า วิญญาณสวนค่อยๆซึมเข้าสู่ตัวเรา เราจะรู้สึกสบายใจขึ้น รู้สึกอิ่มเอิบมากขึ้นๆ ทุกครั้งที่ไปในโลกของพืชพรรณ (ไม่ว่าพืชพรรณนั้นจะเป็นแบบใด หญ้า ดอกไม้ หรือต้นไม้ หรือเห็ดเป็นต้น) ให้ทำตามนี้ แม้จะมีเวลาเพียงเล็กน้อยก็ไม่เป็นไร หลังจากฝึกเช่นนี้สองสามครั้ง ป่านั้นจะกลายเป็นที่หลบภัยของคุณ เป็นที่พึ่ง เป็นเทวสถานของคุณในที่สุด และเราจะเดินไปในป่าเหมือนกำลังชื่นชมศิลปะวัตถุภายในโบสถ์ สายตาเราจะมองเห็นสิ่งใหม่ๆ(ในที่เดิมนั้น) ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจให้เราทุกครั้งที่ไป หลังจากฝึกการเดินภายในป่า ในสวนหลายๆครั้งดังกล่าว ไม่ว่าฤดูใด เวลาใด ในที่สุดเราจะรู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของป่า ของสวน ซึมซับความเป็นป่าหรือธรรมชาติในสวน ตอนนั้นแหละเราจะมองและ “เห็น” สรรพชีวิตในป่าในสวนนั้นด้วยความสนใจมากขึ้นๆ เราเริ่มได้ยินเสียงของป่า เสียงเล็กเสียงน้อยที่เกิดจากสายลมที่พัดผ่านใบไม้ หรือเสียงกรอบแกรบของก้านไม้เล็กๆใต้เท้า เสียงร้องของนกที่เรามองไม่เห็นตัว รู้สึกความนุ่มหรือแข็งของพื้นดินที่เราเหยียบย่างไป ฯลฯ
ประสบการณ์แบบนี้ คือสิ่งที่เหล่าดรูอิดฝึกฝนมาในป่า เป็นประสบการณ์ของเหล่าอัศวินโต๊ะกลมที่เล่าไว้ในวรรณกรรมยุคกลาง และที่รู้จักกันดีที่สุดคือเรื่อง Perceval [แปร-เซอวัล] ของ Chrétien de Troyes [เครเตียง เดอ ทรัว] อันเป็นเรื่องราวและอุดมการณ์ของพระเจ้าอารเธอร์และการค้นหาถ้วยศักดิ์สิทธิ์ (เนื้อหาของวรรณกรรมเกี่ยวกับอัศวิน Perceval ผู้ได้ชื่อว่าเป็นอัศวินผู้บริสุทธิ์ที่สุดในหมู่อัศวินโต๊ะกลม การออกค้นหาถ้วยศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว รวมกันเป็นนิทานตำนาน le conte du Graal ในภาษาฝรั่งเศส (หรือตำนานถ้วย “กรัล” อันศักดิ์สิทธิ์ ในภาษาอังกฤษใช้คำ the Holy Grail [เกรฺล] เรียกถ้วยพิเศษนี้) มีนักเขียนและศิลปินหลายคนนำเนื้อเรื่องนี้ไปเล่าใหม่ และขยายออกไปอีก เช่นวรรณกรรมยุคกลางอันเลื่องชื่อของเยอรมนีเรื่อง Nibelungenlied (ต้นศตวรรษที่สิบสาม) Richard Wagner ได้นำเนื้อหาของอัศวินผู้นี้มาแต่งเป็นดนตรีโอเปร่าใช้ชื่อเดียวกันในปี 1877 (แต่งเป็นภาษาเยอรมันว่า Persifal) ตัวเอกของเรื่องเป็นคนธรรมดาที่มีจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ และความบริสุทธิ์นี้ทำให้เขาเป็นคนเข้มแข็งและมีพลังใจสูงเหนือผู้อื่น จึงเป็นคนเดียวที่สามารถมองเห็นถ้วยศักดิ์สิทธิ์ ค้นพบความหมายลึกล้ำที่อยู่เบื้องหลังการค้นหา ฉันใดฉันนั้น การค้นหาต้นไม้ประจำตัวเรา ต้องผ่านการชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์เพื่อเข้าถึงวิญญาณแห่งต้นไม้
ประสบการณ์แบบนี้ คือสิ่งที่เหล่าดรูอิดฝึกฝนมาในป่า เป็นประสบการณ์ของเหล่าอัศวินโต๊ะกลมที่เล่าไว้ในวรรณกรรมยุคกลาง และที่รู้จักกันดีที่สุดคือเรื่อง Perceval [แปร-เซอวัล] ของ Chrétien de Troyes [เครเตียง เดอ ทรัว] อันเป็นเรื่องราวและอุดมการณ์ของพระเจ้าอารเธอร์และการค้นหาถ้วยศักดิ์สิทธิ์ (เนื้อหาของวรรณกรรมเกี่ยวกับอัศวิน Perceval ผู้ได้ชื่อว่าเป็นอัศวินผู้บริสุทธิ์ที่สุดในหมู่อัศวินโต๊ะกลม การออกค้นหาถ้วยศักดิ์สิทธิ์ดังกล่าว รวมกันเป็นนิทานตำนาน le conte du Graal ในภาษาฝรั่งเศส (หรือตำนานถ้วย “กรัล” อันศักดิ์สิทธิ์ ในภาษาอังกฤษใช้คำ the Holy Grail [เกรฺล] เรียกถ้วยพิเศษนี้) มีนักเขียนและศิลปินหลายคนนำเนื้อเรื่องนี้ไปเล่าใหม่ และขยายออกไปอีก เช่นวรรณกรรมยุคกลางอันเลื่องชื่อของเยอรมนีเรื่อง Nibelungenlied (ต้นศตวรรษที่สิบสาม) Richard Wagner ได้นำเนื้อหาของอัศวินผู้นี้มาแต่งเป็นดนตรีโอเปร่าใช้ชื่อเดียวกันในปี 1877 (แต่งเป็นภาษาเยอรมันว่า Persifal) ตัวเอกของเรื่องเป็นคนธรรมดาที่มีจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ และความบริสุทธิ์นี้ทำให้เขาเป็นคนเข้มแข็งและมีพลังใจสูงเหนือผู้อื่น จึงเป็นคนเดียวที่สามารถมองเห็นถ้วยศักดิ์สิทธิ์ ค้นพบความหมายลึกล้ำที่อยู่เบื้องหลังการค้นหา ฉันใดฉันนั้น การค้นหาต้นไม้ประจำตัวเรา ต้องผ่านการชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์เพื่อเข้าถึงวิญญาณแห่งต้นไม้
ถ้าเราปฏิบัติตามนี้ด้วยความซื่อตรงจริงใจแล้ว เราย่อมรู้สึกสบายอกสบายใจ เกิดความรู้สึกสมานฉันท์เป็นหนึ่งเดียวกับป่า เป็นความรู้สึกที่ชาวเมืองไม่รู้จัก ไม่จำเป็นที่ต้องควบคุมลมหายใจที่วุ่นวายยุ่งยาก หรือวิงวอนขอความช่วยเหลือจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ อย่างที่เราทำกันมาด้วยความเคยชิน เราจะรู้เองว่าเรามีพลังใหม่ๆเพิ่มขึ้น หรือมีกำลังใจมากขึ้น หรืออย่างน้อยก็คลายทุกข์ลงไปในขณะที่อยู่กับต้นไม้ในป่า ได้ฟังเสียงของต้นไม้ ได้เห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นแม้จะเคยมองมานับครั้งไม่ถ้วน สิ่งสำคัญคือ เราได้ฝึกความตั้งใจ ความแน่วแน่ของจิตใจที่มุ่งสู่ธรรมชาติเท่านั้น หมดกังวลกับปัญหาในสังคม จิตว่างเพียงพอที่จะซึมซับพลังและความรู้จากป่า ในสภาพจิตแบบนี้เอง ที่เราจะมองเห็นต้นไม้ของเรา และมองข้ามต้นอื่นๆ เพราะว่าต้นนั้นสวย สง่า ชวนมอง น่าทึ่ง แปลก สีถูกใจ ต้องตาต้องใจเรา ทำให้เราเดินเข้าไปใกล้ๆ ไปดูกิ่ง ไปแตะลำต้นนั้น ต้นไม้เหมือนศิลปวัตถุอย่างหนึ่ง เป็นสิ่งมหัศจรรย์ การที่เราเห็นว่าต้นนั้นเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ก็ทำให้เราเองอัศจรรย์ใจด้วย เหมือนกับเราพบตัวเองในต้นไม้นั้น
หลังจากนั้น เราเริ่มสานไมตรีจิตกับต้นไม้นั้น เหมือนที่เราพยายามเอาใจเพื่อนคนใหม่ให้มีมิตรจิตมิตรใจต่อเรา เราอาจจะอยากรู้เกี่ยวกับต้นไม้นั้น เราพินิจพิจารณารูปลักษณ์ภายนอกอย่างละเอียดทั้งต้น เปลือกลำต้น กิ่งก้านสาขาที่แผ่ออก ลักษณะใบ สีของใบ ระบบนิเวศที่ต้นไม้นั้นอยู่ และรวมไปถึงการหาความรู้ว่า เคยมีใครพูดถึงต้นไม้นั้นอย่างไร มีตำนานอะไร มีประวัติอะไรไหม ต้นไม้นั้นมีสรรพคุณสำคัญอะไรบ้าง ไม่ว่าต้นไม้นั้นจะเป็นต้นใด เราควรหาความรู้เกี่ยวกับต้นไม้นั้น นั่นคือเรากำลังค้นหาบุคลิกของต้นไม้เพื่อนใหม่ของเรา ยิ่งรู้ เรายิ่งตื่นเต้นเกี่ยวกับต้นไม้ของเราต้นนั้น ใยสัมพันธ์ซับซ้อนขึ้นและลึกซึ้งมากขึ้นตามลำดับ ถึงตอนนี้เราต้องเปิดใจ ซื่อตรงต่อเพื่อนใหม่เหมือนต่อตัวเราเอง ระหว่างเพื่อนสองคนไม่ควรมีอะไรปิดบังกัน ควรจะพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง การบอกเล่าความสุข ความสำเร็จสำคัญมากพอๆกับการระบายความกังวลหรือความทุกข์ให้เพื่อนฟัง เป็นสิ่งดึงสองฝ่ายให้เข้าใกล้ชิดกันมากขึ้น ถ้าทำได้ ให้นั่งลงใต้กิ่งก้านต้นไม้นั้น ให้หลังพิงแนบลำต้น และอยู่ในท่านั้นอย่างสงบ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างคลื่นความถี่ของเรากับคลื่นของต้นไม้ ถ้ามิอาจเอามือไปแตะต้นไม้นั้น (เช่นอยู่ในสวนสาธารณะ เพราะมีรั้วกั้นไว้เป็นต้น) ก็อาจยืนห่างออกไปจากต้นไม้ (พระพุทธองค์หลังจากทรงตรัสรู้ใต้ต้นศรีมหาโพธิ์แล้ว ทรงเสด็จออกไปประทับยืนมองดูต้นศรีมหาโพธิ์อยู่เจ็ดวัน) ไปยืนมองต้นไม้นั้นด้วยจิตสำนึกที่ต้องการสื่อสารแลกเปลี่ยนความรู้สึกกับต้นไม้ คนและต้นไม้สื่อสารกันได้ในรูปของคลื่นความถี่ที่ตาเรามองไม่เห็น ไม่ใช่เรื่องเหลวไหลที่จะบอกว่าเราสามารถสื่อสารกับต้นไม้ได้ทางจิต สรรพสิ่งมีวิธีเชื่อมโยงกับสภาพแวดล้อมของมันเอง เราเพียงแต่หาวิธีที่ถูกต้องให้พบ ก็เหมือนพบสะพานที่จะเชื่อมเรากับสิ่งนั้น
เมื่อเราเชื่อมต่อติดกับต้นไม้ของเราต้นนั้นได้แล้ว ทำจิตให้สงบ หายใจช้าและลึก ตอนนี้ถึงเวลาที่จะต้องพินิจพิเคราะห์ด้วยความสงบสุขุมที่สุดของจิต คิดทบทวนปัญหา ความหวัง ความผิดหวัง และมองทั้งหมดนี้ซึ่งๆหน้า ต้นไม้รับรู้เรื่องราวของเราไปด้วย ต้นไม้มีพลังที่เราต้องการ พลังที่เราไม่มีหรือที่อ่อนยวบลง ต้นไม้จะส่งพลังนั้นให้เรา โอบเราไว้ ส่งความรู้สึกซึมซ่านเข้าตัวเรา เราจะรู้สึกแข็งแกร่งขึ้นด้วยพลังใหม่ๆที่ได้รับ ต้นไม้ไม่สามารถปัดเป่าปัญหาสารพัดของเราให้หายวับไปเหมือนปาฏิหาริย์ ดังคำขออันเคยชินของเรา อย่าคิดขอปาฏิหาริย์ใดๆจากเทพยาดาฟ้าดินเลย ต้นไม้ไม่ให้เราอย่างนั้น ต้องยอมรับก่อนว่ามันเป็นไปไม่ได้ แต่สิ่งที่ต้นไม้ช่วยเราได้ คือให้พลังเสริมที่เราต้องการ เหมือนแรงผลักให้เราก้าวออกไปข้างหน้า พร้อมที่จะพัฒนาต่อไป พลังนั้นอาจทำให้เรามองเห็นต้นตอของอุปสรรคได้ชัดเจนขึ้น เห็นหนทางแก้ปัญหา หรือทำให้เรามองปัญหาในมุมมองใหม่ด้วยจิตสำนึกใหม่ มองดูโลกดูสังคมด้วยจิตที่เปิดกว้างใสสะอาดมากขึ้นจนอาจเจาะทะลุกลุ่มเมฆหมอก เราเองจะเป็นผู้พบวิธีแก้ปัญหา พบยุทธวิธีที่จะทำให้โครงการของเราบรรลุไปได้ หรืออย่างน้อยที่สุดทำให้เราเห็นว่า สิ่งที่หนักหนาแสนทนนั้น ความจริงแล้วไม่กระไรนัก ฯลฯ
ประสบการณ์กับต้นไม้อย่างนี้ เป็นสิ่งที่เสริมสร้างกำลังใจแก่เราและเราสามารถหาพลังใจนั้นได้ทุกเมื่อกับต้นไม้ของเรา แต่ต้องระลึกเสมอว่า ต้นไม้ไม่ได้เป็นผู้แก้ปัญหา เพียงช่วยเพิ่มพลังให้แก่ความตั้งใจของเรา ดึงเราออกจากความท้อแท้ ความอ่อนแอ และทำให้เรากลับมาเป็นนายคุมพลังของเราเอง เหมือนที่เราเป็นหวัด ไม่ใช่เพราะมีเชื้อหวัดระบาดในอากาศ แต่เพราะความอ่อนแอของระบบอวัยวะของเราที่ปล่อยให้เชื้อหวัดเข้าไปจับจองที่ภายในร่างกาย เราจึงต้องหาพลังมาเพิ่มให้เพียงพอเพื่อป้องกันและกำจัดเชื้อหวัด พลังหรือแรงผลักที่จะช่วยเรานั้น เราจะได้จากต้นไม้ ถ้าเราพร้อมที่จะรับ
ทุกครั้งก่อนที่จะผละจากบริเวณนั้นที่เราไปพบต้นไม้ของเรา อย่าลืมขอบคุณต้นไม้ต้นนั้น ความรักเป็นสิ่งธรรมชาติและสิ่งดีที่สุดที่คนมอบให้แก่กันได้ คน สัตว์หรือต้นไม้ ชอบให้มีคนรักเหมือนกัน เมื่อถึงเวลาต้องกลับบ้าน อย่าลืมนำสิ่งหนึ่งจากต้นไม้นั้น กิ่งเล็กๆพร้อมใบจากต้นนั้น หรือดอกตูมๆดอกหนึ่ง หรือก้อนหินที่เก็บใกล้โคนต้นหรือรากของต้นไม้นั้น สิ่งที่เก็บมานั้นจะเป็นเหมือนเครื่องรางส่วนตัวของเรา ให้ถ่ายทอดความรู้สึกทั้งหมดที่เราได้รับระหว่างการนั่งภาวนา ไว้ในเครื่องรางนั้น (อาจเก็บมาไว้ก่อนและจับไว้ในมือระหว่างการนั่งสมาธิหรือการสื่อสารพูดคุยกับต้นไม้) เครื่องรางนี้จะเป็นสิ่งเตือนความสัมพันธ์ระหว่างต้นไม้กับเรา ทุกครั้งที่เห็น จับต้องเครื่องรางนั้น เราจะหวนระลึกถึงประสบการณ์ ความตั้งใจใหม่ๆที่เราเคยมีที่เชิงต้นไม้นั้น สิ่งเล็กน้อยนั้นคือใยเชื่อมระหว่างเรากับต้นไม้ และตามคติโบราณ มันเป็นสะพานเชื่อมที่ผ่านบนตัวเราระหว่างท้องฟ้ากับพื้นดิน และไม่ว่าจะเป็นเพียงวัตถุเล็กน้อยเพียงใด เครื่องรางนั้นจะช่วยให้เรารู้สึกสงบ และนำพลังดีๆมาเพิ่มให้ พลังที่เคยได้รับมาจากการสัมผัสเข้าถึงต้นไม้นั้น และเรายังสามารถติดต่อสานใยสัมพันธ์กับต้นไม้ของเราต่อไปอีกไม่ว่าเราอยู่ที่ใด เวลาใด ด้วยการนำเครื่องรางนั้น ไปวางไว้ในที่ไม่มีเสียงรบกวน ในที่ไม่สว่างจ้าเกินไป หรือในที่ไม่มีคนผ่านไปมาจอแจ ในความสงบนั้นเราอาจนั่งสมาธิ จิตหวนกลับไปยังสภาพแวดล้อมอันสงบสุขที่เคยสัมผัสในป่าในสวน เราจะกลับรู้สึกสบายอกสบายใจเหมือนเมื่อเราได้ค้นพบต้นไม้เพื่อนของเราในครั้งแรก ประสบการณ์จะหวนกลับมาอีกทุกครั้งที่เรานั่งสมาธิพร้อมเครื่องรางนั้นในบริบทดังกล่าว
พิจารณารูปลักษณ์ของต้นไม้
วิชาฟิสิกส์บอกเราว่า สสารทั้งมวลไม่ว่าจะเป็นของแข็ง ของเหลวหรือแกซ มีน้ำหนัก มีปริมาตร มีรูปลักษณ์(ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปตามสิ่งที่บรรจุมัน เช่นในกรณีของน้ำ หรือที่เรามองไม่เห็นในกรณีของอากาศ แต่เรารู้สึกได้ เราจับมันมารวมกันได้ในลูกโป่งเป็นต้น) ในห้องนอนของเราเองที่เราคุ้นเคยดีว่ามีอะไรตั้งอยู่ที่ไหน และเราหลับสบายบนเตียงของเรา ทันทีที่มีอีกสิ่งหนึ่งเข้าไปเพิ่ม จะเป็นคนหรือสิ่งของ สิ่งนั้นไปทำให้สภาพคลื่นหรือความถี่ที่มีอยู่แล้วตามปกติของห้องนั้นเปลี่ยนไป เราอาจรู้สึก อาจพลิกตัว อาจลืมตาตื่นขึ้นดู โดยที่เราเองก็มิเคยไปคิดถึงเรื่องคลื่นเรื่องความถี่ในห้องเราเลยด้วยซ้ำ แต่นั่นมิได้หมายความว่า ทุกอย่างเหมือนเดิม ทุกอย่างเปลี่ยนไปแล้ว เราจะเห็นหรือไม่ รู้หรือไม่เท่านั้น ฉันใดฉันนั้น การที่สิ่งหนึ่งมีตัวตนทำให้เกิดคลื่น เกิดการกระทบหรือการจัดระบบความถี่ของพื้นที่นั้นใหม่ ตามหลักการง่ายๆนี้ เราสามารถอธิบายว่า ทำไมบางคน(โดยเฉพาะผู้ที่มีประสาทสัมผัสละเอียดและไหวง่าย ที่ชาวตะวันตกเรียกว่ามีประสาทสัมผัสที่หก) จึงสามารถรับรู้การมาปรากฏของดวงวิญญาณได้ (ทั้งๆที่โดยปริยายวิญญาณไม่มีรูปร่าง ไม่มีมวลสาร?) เพราะฉะนั้นสสารแต่ละชนิดมีคลื่นมีความถี่และสามารถตอบโต้แลกเปลี่ยนความถี่กับสภาพแวดล้อมได้อย่างชัดเจน ในสมัยโบราณที่ยังไม่มีวิชาฟิสิกส์ คนรู้เกี่ยวกับคลื่น เกี่ยวกับความถี่ในสสารในคนด้วยสัญชาติญาณอันเฉียบแหลมในหมู่ผู้มีสติปัญญาแจ่มกระจ่างและผู้มีสมาธิแน่วแน่เท่านั้น คนเหล่านั้นในที่สุดจึงเป็นนักบวช เป็นหมอผีหรือแม่มดในแง่ว่าพวกเขารู้และเห็นสิ่งที่สามัญชนทั่วๆไปไม่เห็นไม่รู้สึก ภาพลางๆที่คนตั้งชื่อให้ว่าเป็นเทพเจ้า เป็นสัญลักษณ์จากพระเจ้าเป็นต้น และให้กำเนิดรูปลักษณ์แบบต่างๆ ในยุคปัจจุบันนักมายากล นักรังสี-สุนทรีย์ (radi-aesthetist) นักชีวธรณี (geo-biologist) มีเครื่องอีเล็กทรอนิคที่ซับซ้อนใช้ต่างไม้เท้าของพ่อมดหมอผีสมัยก่อน ที่สามารถจับและวัดคลื่นความถี่ทุกชนิดอย่างหมดข้อสงสัยใดๆแล้ว
ประสบการณ์ดังกล่าวปูแนวทางการคิดการพิจารณาสรรพสิ่งที่อารยธรรมยุคกลางในตะวันตกรับและสืบทอดต่อมา จนกลายเป็นพื้นฐานของ “ การคิด” ที่คริสต์ศาสนาวางไว้ และกลายเป็นแนวคิดในอุปนิสัยของชาวตะวันตกที่แม้ในปัจจุบันก็ยังคงเป็นไปเกือบอัตโนมัติ (อาจน้อยลงไปบ้างแล้วในเยาวชนปัจจุบัน) นั่นคือ รูปลักษณ์หนึ่งนำไปสู่ความคิดหนึ่ง เชื่อมโยงต่อๆไปกันไป เช่น เมื่อนักบวชคริสต์เห็นผลถั่ววอลนัท (walnut) เขามิได้เห็นเพียงรูปลักษณ์ของถั่วเปลือกแข็ง เขานึกไปถึงพระเยซูคริสต์ นึกถึงการที่พระองค์ถูกตรึงบนไม้กางเขน นึกถึงความรักความเมตตาของพระองค์ เหมือนเนื้อถั่วที่อยู่ภายใต้เปลือกหุ้มที่แข็งกระด้าง แต่เนื้อถั่วที่เป็นอาหารเลี้ยงดูคนเป็นต้น เพราะฉะนั้นแม้ในยุคปัจจุบันที่ผู้คนหยุดคิดถึงพระเยซูคริสต์อย่างทุ่มเทจิตใจแบบคนในยุคกลางแล้ว การโยงรูปลักษณ์ไปยังความคิดหนึ่งยังคงเป็นสิ่งที่ปัญญาชนตะวันตกทำกันจนเป็นนิสัย ในมุมมองของเราผู้เป็นชาวตะวันออก วิธีการคิดแบบนี้ อาจช่วยให้เราพัฒนา เนื้อหาความคิดความอ่านให้กว้างไกลออกไปได้ อาจนำมาใช้ในระบบการเรียนรู้ศัพท์ เพิ่มพูนศัพท์จากคำเดียวออกไปเป็นเครือข่ายกว้างขวาง หรืออาจนำไปใช้ในการพัฒนาเนื้อหาของเรียงความก็ได้เช่นกัน
ในโลกของธรรมชาติพืชพรรณ มีรูปลักษณ์หลากหลายที่เราอาจโยงไปเปรียบเทียบกับโลกในสังคม หรือภายในใจของเรา รูปลักษณ์ช่วยให้เราสามารถอธิบายสิ่งที่เป็นนามธรรมได้ง่ายขึ้น บทเปรียบเทียบอุปมาอุปมัยจึงเป็นเครื่องมือของวรรณศิลป์ ที่นักเขียนดีเด่นทั้งหลายได้อาศัยและเนรมิตผลงานที่ประทับตรึงใจเราด้วยไม่รู้วาย เช่นต้นไผ่ เมื่อมองดูลำต้นที่สูงตรงขึ้นไปในท้องฟ้า ที่เรารู้(เพราะเราเคยเห็นบ่อยๆ) ว่าภายในลำต้นตรงกลางนั้นกลวงว่างเปล่า ถ้าคิดไป เหมือนสภาพจิตที่ว่างเปล่า ไร้กังวล ไร้ทุกข์ ความว่างเหมือนสีขาว ที่สามารถรับทุกสีที่แต่งแต้มมันให้สวยหรือให้น่าเกลียด จิตว่างสามารถรับรู้สิ่งต่างๆ สามารถเรียนอะไรต่ออะไรได้เข้าใจ เราอาจถามตนเองต่อไปอีกว่า เราทำจิตให้ว่างเหมือนปล้องไม่ไผ่ได้หรือยัง มีอะไรที่ค้างคาอัดอยู่ในปล้องนั้น สิ่งนั้นเป็นอาหารไหม เหมือนข้าวหลามหอมหวานที่เป็นประโยชน์ หรือมีแต่กากมีแต่มูลที่น่ารังเกียจ บางคนเห็นไม้ไผ่อาจนึกถึงไม้จิ้มฟัน โยงไปยังการกิน ประสบการณ์อาหารกับเพื่อนๆเป็นต้น ต่อออกไปเป็นเรื่องเป็นราวได้มากมาย นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆที่เราอาจไปใช้ในการมองดูต้นไม้ มองดูธรรมชาติ แล้วโยงไปถึงความคิดหนึ่ง เรื่องหนึ่ง เหตุการณ์หนึ่ง หรือต่อไปจนถึง “ ปัญญา” ของจักรวาล เพราะฉะนั้น รูปลักษณ์ของสิ่งที่เห็น จึงสามารถพาจินตนาการของคนไปไกลโพ้นในแนวนอน หรือชอนไชลึกลงไปในจิตสำนึกในแนวตั้ง หรือล่องลอยไปกับก้อนเมฆถึงแดนอวกาศ
การเลือกต้นไม้ในแง่หนึ่งเหมือนเราเลือกซื้อเสื้อผ้า เราย่อมเลือกสิ่งที่เราใส่ได้ เหมาะกับเรา ที่จะทำให้เราสวยขึ้น เหมือนกับที่วิธีการกิน อาหารที่กินบอกอุปนิสัยใจคอของผู้กิน วิธีการแต่งตัวของแต่ละคนก็ส่อให้เห็นนิสัยของคนนั้น รูปลักษณ์ของต้นไม้ กิ่งไม้ที่เราชอบและถูกใจมากกว่าต้นใด ก็อาจเผยให้เราเข้าใจสภาพจิตของเราเอง ว่าเรามีความคิด ความหวังอย่างไรโดยที่บางทีเราเองยังเจาะจงไม่ถูกนัก เหมือนผู้ที่ดัดต้นบ็อนไซ เขาพยายามดัดมันตามความคิด ตามความอุดมการณ์ความงามของเขาที่เขาต้องการถ่ายทอดเป็นแบบให้ประจักษ์บนบ็อนไซต้นนั้น เพราะฉะนั้นคนจึงพูดกันว่าบ็อนไซของใคร บอกนิสัยของคนนั้น เป็นความจริงที่เมื่อเราเลือกซื้อต้นไม้มาปลูกในสวน หรือซื้อต้นบ็อนไซมาประดับบ้าน เราคงเลือกต้นที่เราชอบ เข้ากับรสนิยมของเราในนาทีนั้นในวันนั้น เมื่อเวลาผ่านไปรสนิยมของเราอาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่อย่าเพิ่งลืมต้นไม้ต้นนั้น มันยังมีความหมายอยู่ เมื่อคนนั้นมองมันแต่ละครั้ง มันอาจเตือนให้เขาระลึกถึงขณะที่เขาซื้อ ว่าทำไมเขาจึงเลือกต้นนั้นมา การทวนความทรงจำในอดีต เป็นกลวิธีหนึ่ง เป็นโอกาสหนึ่งที่สอนให้คนรู้จักชั่ง รู้จักประเมินช่วงชีวิตที่ผ่านมาว่ามีอะไรดีไม่ดี มีอะไรที่มาเพิ่มพูนให้ชีวิต อะไรที่ได้บั่นทอนพละกำลังทั้งกายและใจไปอย่างเปล่าประโยชน์ จะเห็นว่าทุกอย่างเป็นแง่คิดได้ทั้งนั้นถ้าเพียงแต่เราอยากจะคิด
คนที่เลือกต้นไม้ที่มีรูปทรงสัณฐานกลมรีๆ แนะให้คิดว่าคนนั้นเป็นคนที่พบดุลยภาพในชีวิต มีจิตใจเปิดกว้างรับทุกกระแส และอาจเป็นคนชอบอวดนิดๆ
คนที่เลือกต้นไม้ที่มีรูปทรงแผ่กว้างไปในอากาศ แนะให้คิดว่าเป็นคนที่ชอบความมั่งคั่ง ความรุ่งเรืองเฟื่องฟู
คนที่ชอบต้นไม้ที่มีสัณฐานเป็นรูปโคนตั้งตรง แนะให้คิดว่าเป็นคนที่มีความทะเยอทะยาน เป็นคนที่เข้มงวดกวดขัน ในขณะเดียวกัน ก็เป็นผู้ที่มองทุกอย่างในแง่ดีเสมอ
คนที่ชอบต้นไม้ที่มีรูปทรงสัณฐานไม่สม่ำเสมอ แนะให้คิดว่าเป็นคนที่ชอบฝัน คิดคำนึงไปได้ต่างๆโดยไม่มีขอบเขตใดขวางกั้น เช่นนี้จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นคนไม่ค่อยมีระเบียบนัก หรือมีจิตไม่มั่นคง ไม่ยึดมั่นอะไรอย่างถาวร
คนที่เลือกต้นไม้รูปทรงโอนเอนไปข้างหนึ่ง แนะให้คิดว่าคนนั้นมิได้มองตนเองในสภาพปัจจุบัน หากต้นไม้โอนเอนไปทางขวา คนนั้นมุ่งมองอนาคตมากกว่า หากต้นไม้โอนเอนไปทางซ้าย คนนั้นหวนมองอดีตมากกว่า โดยทั่วไปแล้วลักษณะโอนเอน สื่อความไม่มั่นคง ความไม่พอใจ ความกล้ำกลืนที่ต้องเผชิญกับปัญหาเฉพาะหน้าเป็นต้น
คนที่ชอบต้นไม้ที่สูงเป็นพู่ตั้งตรง แนะให้คิดว่าเป็นคนต้องการไต่เต้าสู่จิตวิญญาณระดับสูงกว่า เป็นคนที่มีความคิดความอ่านที่น่าสรรเสริญ แต่หากเขาควบคุมความปรารถนาดังกล่าวนี้ไม่ได้ ก็อาจกลายเป็นคนเย็นชา หรือหยิ่งยโส
ส่วนคนที่ชอบต้นไม้ที่สูงเป็นพู่แล้วกระจายออก แนะให้คิดว่าเป็นคนที่มีแนวโน้มไปในทางปกครองผู้อื่น ครอบงำผู้อื่นในทำนองของพ่อปกครองลูก หรืออาจมาจากนิสัยที่เย่อหยิ่ง อย่างไรก็ดี คนแบบนี้ก็เป็นคนที่มีใจเอื้อเฟื้อเพราะความสำนึกที่ว่าเป็นผู้มีหน้าที่ปกป้องคนอื่น
คนที่รู้สึกพอใจต้นไม้ที่มีกิ่งก้านน้อย แต่กิ่งก้านนั้นใหญ่และแข็งแรง คนนั้นเป็นนายของตนเอง มีพลังอำนาจในมือ แต่ต้องระวังอย่ากลายเป็นคนโหดเหี้ยมหรือชอบข่มเหงคนอื่น
คนที่ชอบต้นไม้ที่มีกิ่งก้านเล็กเรียว เป็นคนอ่อนโยน มีมารยาทงามต่อคนอื่น และก็มีแนวโน้มเป็นคนฉาบฉวย หรือขี้น้อยใจ
คนที่ชอบต้นไม้ที่มีกิ่งเล็กกิ่งน้อยจำนวนมาก เป็นคนที่มีพลังชีวิตมาก รวมไปถึงการชอบอะไรซับซ้อนวกวนและมีแนวโน้มจะอำพรางข้อเท็จจริงด้วยคำพูดยืดยาวที่ไร้ความหมาย
คนที่ชอบต้นไม้ที่มีกิ่งขดไปขดมา แนะให้คิดว่าเขากำลังเผชิญปัญหายุ่งยากในขณะนั้นและที่เขาพยายามจะหลีกเลี่ยง
คนที่ชอบต้นไม้ที่มีกิ่งไม้ไขว้ซ้อนกันไปซ้อนกันมา แนะให้คิดว่าเขากำลังสับสนและตัดสินใจอะไรไม่ได้ เกี่ยวกับความยุ่งยากที่กำลังเผชิญในตอนนั้น
คนที่ชอบต้นไม้ที่มีลำต้นที่สูงชะลูด มีรูปทรงสัณฐานที่สบายตา ที่เอื้ออำนวยการตั้งสมาธิ การกลับไปสู่ความสงบของจิตใจ ส่วนลำต้นที่บิด คดเคี้ยว และมีปุ่มมีปมมาก เทียบได้กับชีวิตที่ผ่านความยาก
ลำบากมามากและที่คนนั้นได้หลุดพ้นออกมาแล้วนั่งมองดูลำต้นนั้น เหมือนกำลังกำหนดจุดจบให้กับสิ่ง
ที่ผ่านมา ลำต้นแบบนี้กระตุ้นพลังอำนาจให้แก่ผู้ที่ย่อท้อ หมดกำลังใจ
ทิศทางของกิ่งไม้ ก็ยังอาจสื่อความหมายได้อีกด้วย คนที่ชอบกิ่งไม้ที่แผ่ออกไปตามแนวนอน คนนั้นชอบความเป็นระเบียบ ความมั่นคง ใฝ่หาความสงบในชีวิตครอบครัวและชีวิตสังคม ส่วนคนที่ชอบต้นไม้ที่มีกิ่งก้านย้อยลง สื่อการขาดกำลังใจชั่วขณะนั้น มีแนวโน้มจะผละจากปัญหาที่อยู่ตรงหน้า หรืออาจเป็นเครื่องหมายบอกความท้อแท้ชั่วขณะนั้น หรือความเหนื่อยอ่อน หากเป็นเช่นนี้ล่ะก็ มีผู้แนะนำว่า ควรรีบย้ายไปนั่ง ไปชมต้นไม้ที่มีกิ่งก้านพุ่งขึ้นสูงแทน เพื่อสร้างดุลยภาพที่ดีกว่าในจิตใจ กิ่งต้นไม้แบบหลังนี้อาจช่วยปัดเป่าความเศร้าไปจากใจคนนั้น และดึงสภาพจิตใจให้สูงขึ้นพ้นความเศร้าหมอง
การแตกกิ่งก้านสาขาของต้นไม้หรือการแตกหน่อเป็นไปอย่างต่อเนื่องในธรรมชาติ มีทั้งกิ่งใหญ่กิ่งเล็ก รวมทั้งการพัฒนาเป็นใบ ดอกและผล ตามหลักการเปรียบเทียบ คนที่ชอบให้ต้นไม้ที่แตกกิ่งแตกใบเป็นจำนวนมาก คือคนที่อยากร่ำรวย อยากประสบความสำเร็จในชีวิต คนที่ชอบต้นไม้ที่แตกเป็นกิ่งเล็กๆกระจายออกกว้าง สื่อว่าคนนั้นมีโอกาสหลากหลายในชีวิต และบอกว่าคนนั้นเป็นคนเอื้อเฟื้อและมีจิตสำนึกในการแบ่งปัน ส่วนคนที่พอใจต้นไม้ที่มีกิ่งก้านเล็กยาวที่ขึ้นเบียดเสียดกัน แนะให้คิดว่าคนนั้นกำลังอยู่ในภาวะเก็บกด จิตสับสนอลหม่าน ในกรณีนี้หมอผู้บำบัดอาจแนะให้เขาหันไปมองต้นไม้ใหญ่ที่แผ่ออกงดงาม ใบสีแดง หรือมองกิ่งก้านที่ตั้งขึ้น จะช่วยให้เขามีกำลังใจมากขึ้นในชีวิต มีความรักชีวิตมากขึ้น ดังนั้น การแตกกิ่ง การทอดหรือการจัดกิ่งที่เป็นลักษณะพิเศษของต้นไม้แต่ละต้น รวมทั้งแสงสว่างที่ส่องผ่านกิ่งก้านของต้นไม้นั้น เป็นหัวข้อที่เราสามารถนำไปพินิจพิจารณาต้นไม้ในป่าหรือในสวน กระตุ้นความอยากรู้อยากสังเกตได้ไม่รู้จบ และในที่สุดอาจกลายเป็นจุดรวมสมาธิของเราและช่วยให้เราสามารถพัฒนาความแน่วแน่ของจิตใจได้ในที่สุด
เปลือกต้นไม้และกิ่ง สะท้อนให้เรามองเห็นตัวเราเองในโลกเช่นกัน คนที่ชอบเปลือกหรือลำต้นเกลี้ยงเกลา คือคนที่ชอบสิ่งที่นำความสุขเชิงสัมผัสแบบต่างๆ ชอบความละมุนละไม ความอ่อนโยน ส่วนคนที่ชอบเปลือกต้นไม้ที่เหมือนเกล็ด เปลือกต้นไม้ที่แตกปริเป็นลายเป็นทางยาวๆ แนะให้คิดว่าคนนั้นมีจิตมั่นคงเพียงพอที่จะเผชิญอุปสรรคใดๆ เป็นต้น ในทำนองเดียวกัน รากที่โผล่พ้นพื้นดินขึ้นมา เทียบได้กับความผูกพันของเราต่ออดีต ต่อเทือกเถาเหล่ากอของตระกูลที่อาจโยงไปถึงความสนใจในวัฒนธรรมเก่าๆในอดีต
ใบไม้ที่เรียบ ลื่นมือ ใบอ่อนๆ ให้ความสุขสัมผัสมากกว่าใบแบบเข็มต้นสน แม้ว่าจะมีเข็มที่อ่อนมือกว่า ที่ระคายน้อยกว่าก็ตาม เช่นเดียวกับลักษณะกิ่งและลำต้นดังที่กล่าวมาข้างต้น คนที่ชอบใบที่มีปลายแหลมทิ่มแทงมือได้ สื่อว่าคนนั้นกำลังมีจิตครุกกรุ่น เต็มไปด้วยความโกรธเคือง คนที่ชอบใบไม้กลมๆหรือที่แยกเป็นแฉกอย่างมีสัดส่วนสวยงาม สื่อว่าคนนั้นมีความสุขุมและมีดุลยภาพภายใน ในทำนองเดียวกัน ใบไม้ในสภาพพักนิ่ง หรือในสภาพต้องลม ให้คลื่นความถี่ในอากาศที่อาจเปลี่ยนความรู้สึกของคนในบริเวณนั้นให้ผ่อนคลายหรือไปกระตุ้นให้หงุดหงิดมากขึ้นได้
สีของต้นไม้
ผู้ที่ไปชื่นชมต้นไม้ต้นหนึ่ง และเลือกไปนั่งภาวนาสงบจิตใจใต้ต้นไม้ใด ย่อมสังเกตเห็นสีเฉพาะของต้นไม้นั้น สีที่ต้องตาเขา สีที่เข้าไปปรับพละกำลังภายในตัวเขาให้เข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับต้นไม้ หรือทำให้เขารู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้น ณ ที่นั้นเวลานั้น
ต้นไม้แต่ละต้นมีสีเฉพาะของมันสีหนึ่ง อาจมีความแตกต่างกันบ้างในความเข้มมากน้อยแล้วแต่ว่าต้นไม้นั้นอยู่ที่ไหน ในที่แสงแดดมากน้อยแค่ไหน ธรรมชาติดินเป็นอย่างไร สีของต้นไม้ต้นเดียวกันอาจผิดแผกไปเมื่อไปอยู่ในถิ่นอื่น ทั้งยังเปลี่ยนไปได้ตามปริมาณแสงอาทิตย์ ตามธรรมชาติเนื้อดินที่มันเติบโตขึ้น ตามฤดูกาลและตามเวลาในวันหนึ่งๆ ต้นไม้ประเภทเดียวกันอยู่ในที่เดียวกัน ก็ยังมีสีเข้มสีอ่อนแตกต่างกันได้อีก ความละเอียดและการรับรู้เกี่ยวกับสีในหมู่ชาวตะวันตกมิได้เหมือนกับเราชาวไทยนัก เหตุผลหนึ่งอาจอยู่ที่ว่า เราคุ้นเคยกับสีรอบข้างเราจนมิได้หยุดสังเกต เพราะสีเหมือนๆกันเกือบทั้งปี ในขณะที่ความแตกต่างระหว่างฤดูที่เห็นชัดในการเปลี่ยนสีของใบไม้ในยุโรปหรือในประเทศหนาวนั้น เป็นสิ่งที่เตะตาชาวตะวันตกตั้งแต่เกิดจนตาย พวกเขาจึงมีศัพท์เกี่ยวกับสีสันต่างๆเป็นจำนวนมากกว่า ที่สามารถแจกแจงความแตกต่างตั้งแต่กิ่งที่เริ่มมีสีเขียวบางๆจับเหมือนเงาอ่อนๆ ตั้งแต่เป็นเพียงตุ่มอ่อนๆที่เพิ่งโผล่ออกจากกิ่ง ไปจนถึงเมื่อใบร่วงลง จนมันกรอบแหลกหรือเน่าเปื่อยลง ก็ยังมีคำตามไปเจาะจงสภาพของสีในวาระสุดท้ายนั้น (กรณีในภาษาฝรั่งเศสเป็นต้น เป็นความพิศวงไม่รู้วาย และเป็นความปวดเศียรเวียนเกล้าด้วยเพราะเราหาคำที่ละเอียดถึงเพียงนั้นไม่ได้ ทำให้ภาพพจน์ไม่แจ่มใส หมดรสชาติลงไปเยอะ) สีจึงมีอิทธิพลและโยงใยไปถึงความคิดคำนึงต่างๆในจิตสำนึกของชาวตะวันตก ที่เราชาวตะวันออกคาดไม่ถึง เป็นหัวข้อที่น่าศึกษาติดตามอีกหัวข้อหนึ่งที่ข้าพเจ้ายังไม่มีประสบการณ์เพียงพอ
ในโลกของพืชพรรณของป่า สีเขียวเป็นสีเด่น ต้นไม้จำนวนมากมีสีเขียวตลอดทั้งปี สีเขียวเป็นสีกลางระหว่างสีแดงและสีน้ำเงิน สีแดงสื่อแรงสั่นสะเทือนรุนแรง จึงเป็นสีกระตุ้นให้ตื่น ให้ลุก ส่วนสีน้ำเงิน(หรือสีฟ้า) เป็นสีที่ผ่อนคลาย ปรับอารมณ์รุนแรงใดๆให้อ่อนลง สีเขียวเป็นสีสว่าง นำความสงบสุขุมแก่ร่างกายและจิตใจ และช่วยพยุงพฤติกรรมด้านสติปัญญาได้อย่างมากทีเดียว สีเขียวได้ชื่อว่าเป็นสีเย็น ช่วยลดความดันโลหิตและโดยเฉพาะความดันในสายตา การแพทย์โบราณใช้สีเขียวเพื่อช่วยผ่อนคลายโทสะจริตแบบต่างๆและช่วยแก้ไขโรคนอนไม่หลับ มีผู้บอกว่าสีเขียวยังเป็นสีที่ช่วยป้องกันการติดเชื้อ (อย่างไรนั้นคงต้องทดลองกันเอง) สำนวนฝรั่งเศส “se mettre au vert” (แปลตามตัวว่า สวมสีเขียว) หมายความถึงการกลับไปสู่สภาพจิตปกติของอารมณ์และจิตใจ หลุดออกจากความกังวลความหงุดหงิดในสังคม สภาพจิตปกติของคน(ในจิตสำนึกตะวันตก) ควรจะเหมือนทัศนียภาพของท้องทุ่งในฤดูร้อนของยุโรป มีต้นไม้ใหญ่ๆ ที่พวกเขาสามารถนั่งๆนอนๆหรืออ่านหนังสือใต้ต้นไม้นั้น มีสายลมโชย และธารน้ำใสไหลผ่าน (เหมือนภาพจิตรกรรมบางภาพของโมเนต์ - Monet เป็นต้น) ในที่สุดสำนวนนี้จึงหมายถึงการออกไปพักผ่อนในธรรมชาติ ในต่างจังหวัด
ในขนบที่ทำกันมา คนมักใช้สีดำและสีขาวเพื่อแสดงความเป็นทวิภาคของสิ่งหนึ่งหรือของหลักปรัชญาหนึ่ง ชาวอียิปต์กลับใช้สีเขียวและสีแดงเพื่อสื่อว่า ภาคหนึ่งให้ชีวิต เป็นภาคของสิ่งดีๆ และมีเทพเจ้า Osiris [โอไซริซ] เป็นสัญลักษณ์ และอีกภาคหนึ่งเป็นทะเลทราย เป็นภาคของพายุ ความรุนแรง สิ่งไม่ดีทั้งหลาย และมีเทพเจ้า Seth [เซ็ธ] เป็นสัญลักษณ์ ในจิตสำนึกของคนอียิปต์ พื้นที่สีเขียวเป็นที่เหมาะกับการพักผ่อน เป็นสีที่นำความสุขเพราะสีเขียวหมายถึงการฟื้นคืนชีวิต การเกิดใหม่ เทพเจ้า Osiris มีใบหน้าสีเขียว ส่วนเทพเจ้า Seth มีใบหน้าสีแดง
สีเขียวในระบบสีของชาวตะวันตกยังอาจแบ่งย่อยออกไปต่างๆโดยโยงไปถึงสีเขียวของต้นไม้ประเภทต่างๆในยุโรปเป็นสำคัญ ดังจะยกเป็นตัวอย่างต่อไปนี้ สีเขียวมืด เช่นสีของต้นไซเพรส ต้นสนดำเป็นต้น สีเขียวเข้ม เช่นสีของใบต้นแพร์ ต้นโอ๊คเขียว เป็นต้น สีเขียวคงที่ เช่นสีใบต้นเมเปิล ต้นเกาลัด ต้นวอลนัท สีเขียวออกเทา เช่นสีใบต้นหลิว - Willow สีเขียวที่กล่าวมานี้เป็นสีเขียวที่ออกไปทางเข้ม จนบางทีดูขรึม หรือดูเศร้า แต่เบื้องหลังความขรึมของสีที่เห็น เป็นสีที่เอื้ออำนวยต่อสภาพจิตที่ใฝ่คิด ใฝ่การภาวนาหรือการใคร่ครวญ จึงเป็นสีที่หนุนกำลังใจมากพอๆกับต้นไม้ที่มีสีสว่างแจ่มใส
นอกจากนี้ยังมีสีเขียวออกฟ้า เช่นสีใบต้นยูคาลิปตัส สีต้นสนจากหิมาลัยเป็นต้น สีเขียวออกเหลืองเช่นสีใบต้น Linden tree ต้น Birch สีเขียวสว่างชัด เช่นสีใบต้น Ash ต้น Beech เป็นต้น ต้นไม้ที่มีใบอยู่ในหมู่สีเขียวออกเหลือง จนถึงสีเขียวสว่าง เชื่อกันว่ามีสรรพคุณช่วยทำให้จิตใจเบิกบาน รื่นเริง หรือปลื้มปิติ อาจเป็นเพราะว่าสีแบบนี้กระจายความอบอุ่นและแสงสว่างให้มากกว่า คนจึงแนะให้ผู้ที่โศกเศร้า เครียด หรือรู้สึกเก็บกด ให้ไปอยู่ใกล้ต้นไม้ที่มีสีเขียวแบบนี้
นอกจากระดับความแตกต่างในใบไม้ สีเขียว ยังมีสีลำต้นหรือเปลือกต้นไม้ที่ก็แตกต่างกันด้วย เช่นลำต้นสีเทาๆเงินๆ เช่นต้นมะกอก ต้นสน หรือเปลือกต้น Beech เป็นต้น เปลือกต้นค๊อคโอ๊ค (Cork Oak tree) มีสีเทาออกสีครีม เปลือกต้น White Poplar หรือต้น Birch เป็นสีเกือบขาวเป็นต้น
ฤดูกาลมีส่วนช่วยให้เราเข้าใจต้นไม้ดีขึ้น ใบเมเปิลที่แดงก่ำในฤดูใบไม้ร่วง ในขณะที่ต้นไม้อื่นเปลี่ยนเป็นสีเหลือง สีน้ำตาล สีสนิมหรือสีแดงสด ให้ความรู้สึกต่อเราไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นหากเรานั่งสมาธิภาวนาในฤดูใบไม้ร่วง จะมีผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจไม่เหมือนกับเมื่อนั่งสมาธิในต้นฤดูใบไม้ผลิเมื่อใบไม้เพิ่งแตกเป็นสีเขียวอ่อนๆ ถือกันว่าใบไม้สีแดงๆส่วนใหญ่ถ่ายทอดพลังงาน ความกระปรี้กระเปร่าให้ทันที เมื่อเทียบกับพลังงานที่ได้รับจากใบไม้ในฤดูใบไม้ผลิที่กระจายออกในช่วงเวลาที่นานกว่ากัน ในส่วนที่เกี่ยวกับความเข้มมากน้อยของสีนั้น สีอ่อนกว่าเสริมความร่าเริง ให้ความมั่นใจ ในขณะที่สีเข้มกว่าเสริมความคิดอ่าน
ศาสตร์สมัยใหม่กำลังเร่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสรรพคุณของสีต่างๆที่อาจนำมาใช้บำบัดโรคได้และโดยเฉพาะผู้ป่วยทางจิต เป็นศาสตร์ที่อาจเรียกว่า“ สีบำบัด”(chromatherapy) และให้ตัวอย่างว่า สีแดงเป็นสีที่ช่วยต้านโรคซึมเศร้า โรคปอด และโรคเหน็บที่เกิดจากความหนาว เหตุนี้ถ้าคนไหนมีความดันโลหิตสูง หรือกำลังเครียดหนัก หมอไม่สนับสนุนให้ไปไปนั่งสมาธิหรือไปอยู่ใต้ต้นไม้ใบสีแดงๆนานเกินไป และเป็นการดีที่จะไปนั่งบนสนามหญ้า หรืออยู่ในหมู่พืชพรรณที่มีสีสันออกเขียวออกเหลือง เป็นต้น
มีรายงานว่า แพทย์สีบำบัดหลายคนยืนยันว่า สีส้มๆเป็นสีที่ช่วยเพิ่มความกระปรี้กระเปร่าได้วิเศษที่สุด สีส้มเช่นกันที่ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบหายใจ ช่วยให้ร่างกายซึมรับแคลเซียมได้ดีขึ้น ช่วยให้เกิดมโนสำนึกในด้านดี และยังเสริมพละกำลังทางเพศได้อีกด้วย
ดอกไม้
คนโบราณชื่นชมกันมาว่า ดอกไม้เหมือนสิ่งที่จุดประกายแสงสว่างแก่ต้นไม้ ให้ความงามแก่ต้นไม้ ดอกไม้เป็นสิ่งมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เป็นของขวัญจากสวรรค์ ก่อนจะถึงฤดูใบไม้ผลิ พืชพรรณดูเหมือนมีชีวิตชีวาขึ้น ต้นไม้ในทุ่งเริ่มแตกใบอ่อนๆ แล้วผลิดอกไม้ดอกแรกๆที่เหมือนแสงสว่างบนกิ่งก้านที่เกือบเปล่าเปลือย วงจรของการผลิของดอกไม้ในยุโรปและในประเทศหนาว และโดยเฉพาะในประเทศญี่ปุ่นเป็นข่าวสำคัญประจำวัน เชิญชวนให้ประชาชนออกจากบ้านไปเดินชมดอกไม้ ในยุโรปก็กล่าวถึงอยู่บ้างโดยเฉพาะในอังกฤษ ในฝรั่งเศสมีนักเขียนในอดีตที่แต่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับวงจรดอกไม้ในแต่ละเดือนหลายคน ผู้สนใจโปรดดูที่ A.Arnoux หรือ C.F.Landry และในวรรณกรรมโบราณของ Hesiode ในบรรณานุกรมท้ายเล่ม นักเขียนสองคนแรกพรรณนาดอกไม้ในท้องทุ่งธรรมชาติที่ยังทำให้ผู้อ่านเห็นวัฏจักรชีวิตในชนบทและพฤติกรรมของสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยที่เกี่ยวข้องในบริบทเดียวกัน เล่มของปราชญ์กรีกเป็นเล่มที่ละเอียดที่สุด มิได้เกี่ยวกับดอกไม้โดยตรง แต่เกี่ยวกับวงจรชีวิตชาวนาชาวไร่ ความผูกพันกับธรรมชาติ ภูมิปัญญาของชาวกรีกที่ช่างสังเกตและเรียนรู้จากธรรมชาติ พร้อมๆกับการสรรเสริญเทพเจ้ากรีกผู้อำนวยความอุดมสมบูรณ์นานัปการ
สำหรับผู้ที่รู้จักมอง พื้นที่ใต้ต้นไม้ในป่า ก็มีส่วนเนรมิตมนตร์ขลังของป่า ของพืชพรรณในสวนด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเพียงหญ้ามอส หรือดอกหญ้าอื่นๆ หรือดอกเล็กดอกน้อยที่แทรกตัวโผล่หน้าออกจากกอหญ้า สีของต้นไม้ใบไม้ และดอกไม้แต่ละประเภทในแต่ละฤดูกาล เป็นเหมือนเชิงอรรถที่แทรกไว้เพื่อช่วยให้คนเข้าใจสารที่ป่า สวนหรือต้นไม้ต้องการบอกแก่เราให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
ภาษาดอกไม้ได้นัยสัญลักษณ์ที่มาจากการโยงรูปลักษณ์ของดอกไม้ไปถึงความคิด ค่านิยม ขนบธรรมเนียมที่มีมา นานๆเข้ากลายเป็นที่ยอมรับและจดจำกันต่อมา เช่นดอกลิลลีสีขาวที่ชาวตะวันตกต้องนึกไปถึงพระแม่มารีก่อนอื่นใดเป็นต้น ดอกไม้มีบทบาทสำคัญในบทสนทนาระหว่างคนกับต้นไม้ ไม่ว่าดอกไม้นั้นจะติดอยู่กับต้นหรืออยู่ในแจกัน สีสันของดอกไม้ รูปทรงของมันล้วนเป็นภาพสะท้อนให้เห็นอารมณ์และความรู้สึกของคน หรือความคิดคำนึงที่ย้อนหลังไปในประสบการณ์ในอดีต ที่กวีจำนวนมากถ่ายทอดออกมาในวรรณกรรมของทุกชาติ (ในนิราศของไทยเราก็เช่นกัน) มีหนังสือที่รวบรวมความหมายของดอกไม้ชนิดต่างๆเป็นจำนวนมากที่เราหาอ่านได้ง่าย จึงไม่นำมากล่าวซ้ำในที่นี้ อีกประการหนึ่งเป็นดอกไม้ที่หาดูได้ยากในเมืองเรา ข้าพเจ้าจึงขอกล่าวถึงสีดอกไม้ และความหมายของสีดอกไม้ ซึ่งอาจเป็นข้อมูลที่เราคนไทยนำไปปรับใช้ได้ ในส่วนที่เกี่ยวกับสีดอกไม้ เราอาจสรุปได้ว่า
ดอกไม้สีขาว หมายถึงความบริสุทธิ์ ความสุขที่ไร้เดียงสา ความไร้เล่ห์กลมารยาใดๆ
ดอกไม้สีฟ้า-น้ำเงิน หมายถึงความรักแบบฉบับ ความฉลาดสุขุม ความมีจิตใฝ่สูง ความปรารถนาสิ่งสะอาดบริสุทธิ์
ดอกไม้สีเทา หมายถึงความสงบ ความซึมเศร้า หรือบางทีความเก็บกดภายใน
ดอกไม้สีเหลือง หมายถึงความสำเร็จ ความรุ่งโรจน์ ความมั่งคั่ง แต่บางทีก็สื่อความไม่ซื่อในชีวิตคู่ หรือความอาฆาตมาดร้ายต่ออริศัตรู
ดอกไม้สีม่วงอ่อนๆ (ที่ชาวตะวันตกเจาะจงว่าเป็นสีของดอก lilac ต้นไม้ในสกุล Syringa) หมายถึงความรักแบบฉบับที่บริสุทธิ์ ความรักที่เป็นความอิ่มเอิบใจมากกว่าความรักทางกาย
ดอกไม้สีดำ หมายถึงความเย็นชา ความทุกข์โศกที่สืบเนื่องกับความตาย ความเศร้าสลด
ดอกไม้สีส้ม เหมือนสีเหลือง หมายถึงความไม่มั่นคงในชีวิตคู่ แต่หมายถึงความรักความสำเร็จ ความรุ่งโรจน์
ดอกไม้สีแดงเข้ม (คำในภาษาอังกฤษว่า crimson ) หมายถึงพลังอำนาจที่จะเอาชนะให้ได้
ดอกไม้สีชมพู หมายถึงความหวัง ความเยาว์วัย ความอ่อนโยนและความงาม
ดอกไม้สีแดง หมายถึงความไม่ประมาท ความรู้จักอาย แต่ก็หมายถึงความมุ่งมั่นและความทะเยอทะยานด้วย
ดอกไม้สีเขียว หมายถึงความหวัง การมีหัวไว ความสามารถไต่เต้าสู่วิญญาณสำนึกระดับสูง
ดอกไม้สีม่วง หมายถึงมิตรภาพ ความสุภาพ การมีมารยาทงาม ในขณะเดียวกันก็อาจสื่อความรู้จักเอาอกเอาใจสตรี (ที่เรามักประณามว่าเป็นความเจ้าชู้แบบหนึ่ง)
ความหมายของสีสันต่างๆนั้นตรงกับสัญลักษณ์ของธาตุสี่ด้วย โดยมีสีดำเป็นสีของธาตุดิน สีขาวของธาตุน้ำ สีน้ำเงินของธาตุลม(สีของท้องฟ้า) และสีแดงของธาตุไฟ
ในศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ดนี้ กลับมีผู้คนที่หันมาพิจารณาอุดมการณ์ธรรมชาติของเหล่าดรูอิดมากขึ้น เพราะมีสมาคมเคลต์ตั้งขึ้นมากมายในยุโรป เช่นสมาคมฝรั่งเศสเคลต์ในยุโรป (l’Association France celtique en Europe) เป็นต้น เพราะฉะนั้นอุดมการณ์เคลต์และดรูอิดที่เคยแพร่หลายในยุโรปตั้งแต่ตุรกีไปจนถึงไอรแลนด์ ในศตวรรษที่สี่ก่อนคริสตกาลนั้น ยังมิได้หายสาบสูญไปเลยทีเดียว สมาชิกในองค์การหรือสมาคมเหล่านี้ มีทั้งนักปรัชญา นักเทววิทยา นักคณิตศาสตร์ แพทย์ เภสัชกร นักธรรมชาติวิทยา นักดาราศาสตร์ และนักโหราศาสตร์เป็นต้น การมารวมของปัญญาชนเหล่านี้ยืนยันความตั้งใจในการศึกษาหาความรู้จากชนเผ่าโบราณเพื่อประโยชน์สุขของชีวิตในโลกปัจจุบัน สมาชิกในสมาคมเคลต์เหล่านี้พบกันเป็นครั้งเป็นคราวตามวันสำคัญๆในปฏิทินดรูอิดเดิม เพื่อนั่งสมาธิภาวนาและฉลองร่วมกันตามแหล่ง “ ศักดิ์สิทธิ์” ในธรรมชาติที่กระจายอยู่ในยุโรป เช่นในเทศกาลฉลอง “น้ำ” “ไฟ” “การเก็บเกี่ยว” เป็นต้น
ความผูกพันกับต้นไม้และค่านิยมบางอย่างเกี่ยวกับต้นไม้ดอกไม้ที่นำมาพูดถึงในที่นี้ คงจะเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างตัวเราเองกับธรรมชาติรอบข้างได้ง่ายขึ้น ปราชญ์โบราณ นักเขียน กวีทุกยุคทุกสมัยต่างค้นพบว่าต้นไม้ ดอกไม้ เป็นสิ่งช่วยทำให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างไร มิใช่ในแง่ของวัตถุแต่ในด้านของจิตใจ หากเรามีพลังจิตมั่นคง เราย่อมคิดย่อมทำและย่อมดำเนินชีวิตไปในทางที่จะนำความสุขใจแก่เรา นั่นเป็นรางวัลที่มิมีอะไรเทียมเท่า ที่ธรรมชาติพืชพรรณมอบให้แก่เราบนโลกนี้
ส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับโลกของพืชพรรณ
ของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
นำเสนอที่นี่ณวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๗
ของโชติรส โกวิทวัฒนพงศ์
นำเสนอที่นี่ณวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๗
[1] คนไทยไม่อุทานแบบนี้ เพราะภาพลักษณ์ของสวรรค์ของคนไทยส่วนใหญ่ (ในอดีตหรือในปัจจุบัน) มิได้เกี่ยวกับสวนหรือธรรมชาติมากนัก แต่เกี่ยวกับความรโหฐานอลังการของปราสาทมากกว่า
[2] ในคัมภีร์พราหมณ์โบราณเจาะจงไว้ว่า เป็นต้นไม้เถาชนิดหนึ่ง ชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Araliaceae เหล่าเทวดานำมาหมักและคั้นเป็นน้ำเมาสำหรับดื่ม (ทำให้นึกถึงโสมของเกาหลี ชื่อเหมือนกันและอ้างกันว่ามีสรรพคุณดียิ่งนัก แม้จะไม่ทำให้คนดื่มเป็นคนไม่รู้ตาย แต่ก็ทำให้เป็นคนแข็งแรงมีอายุยืน) ชาวเปอเชียเรียกน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ว่า haoma หรือที่หมู่ชนเผ่าต่างๆในภาคเหนือของยุโรป (เช่นเผ่า Celt, Saxon, Norse) รู้จักกันว่า เป็นน้ำจาก “หม้อตุ๋นแห่งแรงบันดาลใจ”
[3] บนเกาะอังกฤษและเกาะไอรแลนด์ ยังเห็นซากพื้นที่พร้อมหินตั้งเป็นวงล้อม อีกประมาณเก้าร้อยแห่ง ขนาดของพื้นที่อาจมีเส้นผ่าศูนย์กลางถึง ๔๐๐ เมตร นักประวัติศาสตร์สรุปกันว่า การกำหนดบริเวณดังกล่าวนี้ เพื่อใช้เป็นวัด หรือเป็นที่ประกอบพิธี เป็นที่รวมชาวบ้านผู้มาร่วมเป็นพยานในวาระต่างๆ ในปรากฏการณ์ธรรมชาติ หรือในการฉลองเป็นต้น การแบ่งโลกเก่ายุคก่อนประวัติศาสตร์ออกเป็นสามยุคใหญ่ๆ (รู้จักกันว่า the Three Age System) อันมียุคหิน (Stone Age), ยุคทองสัมฤทธิ์ (Bronze Age) และยุคเหล็ก (Iron Age) นั้น เริ่มนำมาใช้อย่างเป็นทางการตั้งแต่ปี 1819 เมื่อนักโบราณคดีชาวเดนมาร์กชื่อ Christian Jürgensen Thomsen (1788-1865) ได้นำหลักการนี้ไปแบ่งแยกและจัดหมวดหมู่โบราณวัตถุในคลังสะสมของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเมืองโคเปนเฮเกน หนึ่งศตวรรษต่อมาหลักการนี้แพร่หลายไปทั้งยุโรป และโดยเฉพาะหลังจากที่มีการพิมพ์หนังสือ A Guide to Northern Antiquities (ของ Christian Jürgensen Thomsen,1836) และหนังสือ Trans-Primaeval Antiquities of Denmark (ของ Jens Worsaae ลูกศิษย์ของ C.J.Thomsen, 1843) เป็นภาษาอังกฤษสู่ตลาดนักวิชาการในยุโรป
ส่วนการแบ่งยุคหินย่อยออกเป็นยุคหินเก่า (Old Stone Age หรือ Palaeolithic โดยยึดลักษณะเครื่องมือที่คนในยุคนั้นประดิษฐ์ขึ้นใช้ อันเป็นเครื่องมือหินแบบหยาบตอกสลักออกจากหินก้อนใหญ่) และยุคหินใหม่ (New Stone Age หรือ Neolithic โดยยึดลักษณะเครื่องมือหินที่ใช้ ที่มีการขัดเกลาให้ราบเรียบ) นั้นปรากฏใช้เป็นครั้งแรกในงานเขียนเรื่อง Prehistoric Times (1865) ของ Sir John Lubbock ในปีไล่เรี่ยกันนั้น ก็มีคำเจาะจงระยะเวลาของยุคหินยุคกลางที่เริ่มนับยุคน้ำแข็งยุคสุดท้ายไปห้าพันปี (เรียกว่า Middle Stone Age หรือ Mesolithic) ส่วนการเจาะจงยุคทองแดงหรือยุคทองสัมฤทธิ์ยุคแรกๆ (ด้วยคำ Chalcolithic นั้นเพิ่งเกิดขึ้นในสมัยหลังๆนี้เอง)
ใครชอบต้นไม้แบบไหน มีอุปนิสัยอย่างไร
ReplyDelete