Monday 4 May 2020

เมื่อโลกแตก - Apocalypse soon!

สองสามปีมานี้ สถานการณ์โลกเข้าขั้นวิกฤตไม่ว่าจะมองจากมุมใดไปยังอีกมุมหนึ่งมุมใดบนโลกเรา  การเมือง การเข่นฆ่ากัน การทารุณโหดเหี้ยมทุกแบบ นอกเหนือจากภัยธรรมชาติซึ่งก็ยังเป็นผลจากความมักง่ายของคนด้วย.  ดูเหมือนว่า คนในรุ่นปัจจุบันมีประสบการณ์เรื่องเลวๆร้ายๆทั้งทางตรงและทางอ้อม อย่างที่ไม่มีมนุษย์ยุคไหนเคยประสบมา  ตามด้วย Ebola ไวรัสที่กำลังคุกคามโลกอยู่ในสองเดือนนี้ (สิงหาคม-กันยายน 2014). ทุกอย่างช่างตรงกับความหายนะที่นักบุญจอห์นได้บันทึกไว้ในคัมภีร์ใหม่ ตอนที่ชื่อว่า Apocalypse-อโปกาลิปส์. 
          นี่ควรจะเป็นเวลาที่เรามาทำความรู้จักอย่างย่อๆกับเรื่องราวในอโปกาลิปส์ ที่นักบุญจอห์นได้บันทึกไว้เกือบสองพันปีกว่ามาแล้ว, ว่ามันเกิดขึ้นเมื่อไร, เพราะอะไร, และเพื่ออะไร. ชื่ออโปกาลิปส์ ได้กลายเป็นสำนวนที่ชวนให้หวาดกลัวจนขนหัวลุก หากใครเคยดูภาพยนต์เรื่อง Apocalypse Now! ก็คงกลัวยิ่งขึ้นอีก เพราะฉากรุนแรงแบบเลือดสาดไปทั่วแผ่นดิน. ปัจจุบัน สำนวนอโปกาลิปส์ถูกนำไปใช้ เพื่อสื่อนัยของ(สถานการณ์ที่) “แย่ที่สุด ที่ไม่มีทางหนีทางรอด” แล้ว.  คงไม่ผิดนักที่จะสรุปว่า คนรุ่นเราๆ อาจต้องเตรียมตัวเตรียมใจให้พร้อมตายได้ทุกเมื่อ (อย่าลืมพกสติ จากพุทธฯติดตัวไว้เสมอ) เพราะเดี๋ยวนี้และที่นี่บนโลกนี้ เรากำลังอยู่ในยุคของ Apocalypse.

อโปกาลิปส์ (Apocalypse)
        คัมภีร์ใหม่ของอัครทูตจอห์นเล่มสุดท้ายชื่อ อโปกาลิปส์ (Apocalypse ที่แปลว่า การเปิดเผยปมปริศนาเจ็ดปม, ตรงกับคัมภีร์ฉบับภาษาอังกฤษที่เรียกกันว่า Revelation แต่งขึ้นในราวปีคศ. 96). ใจความสำคัญของหนังสือเล่มนี้ตามความหมายที่ยึดถือกันมาตั้งแต่ปี 1175 คือ ชัยชนะแน่นอนและเด็ดขาดของความดีเหนือความชั่ว และเป็นจุดจบของโลกยุคปัจจุบัน. ในความเข้าใจกว้างๆของสังคมทุกวันนี้ เหลือเพียงความหมายของ การเปิดเผยคำทำนายเกี่ยวกับจุดจบของโลก และเน้นนัยของความหายนะแย่ที่สุด.  
     จอห์นอัครสาวก ถูกจักรพรรดิโรมันขับไล่(เป็นการลงโทษแบบหนึ่ง) ให้ไปอยู่ที่เกาะเล็กๆชื่อ Patmos, ส่วนหนึ่งของประเทศกรีซ ด้วยเห็นว่าจอห์นเป็นอันตรายต่อนโยบายการปกครอง, ระเบียบสังคมและความมั่นคงของอาณาจักรโรมัน. ปกติจักรพรรดิโรมัน เนรเทศคนที่ใช้เวทมนต์คาถาและโหราศาสตร์ มามอมเมาชาวบ้าน.
      วันหนึ่งพระเจ้ามาดลบันดาลใจและเปิดตาให้จอห์นได้เห็นสวรรค์ในมโนทัศน์ และเห็นเหตุการณ์อนาคตในวันที่โลกจะมลายสูญสิ้น (ทั้งๆที่ร่างกายของจอห์นอยู่ที่ Patmos) และได้กำชับกำชาให้จอห์นบันทึกเล่าทุกอย่างที่ได้เห็น (เห็นแล้วจึงบันทึกลง, บันทึกเป็นอดีต). บันทึกความเป็นจริงในคริสต์จักร(สภาพการณ์โลกยุคนั้น บันทึกเป็นปัจจุบันกาล)  และสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากโลกแตกแล้ว (บันทึกไว้เป็นอนาคตกาล).  นักเทวศาสตร์เชื่อตรงกันว่า จอห์นผู้เขียนเรื่องอโปกาลิปส์(ในปีคศ. 96) คือคนเดียวกับนักบุญจอห์นอัครสาวกผู้ใกล้ชิดพระเยซูที่สุด และเป็นคนเดียวกับนักบุญจอห์นผู้แต่งคัมภีร์ใหม่ด้วย. จอห์นจึงเป็นตัวแทนของคริสต์ศาสนาบนโลก (ในคัมภีร์ใหม่ เจาะจงเสมอว่า เป็นผู้ที่พระเยซูรักใคร่เป็นพิเศษ เป็นสาวกผู้มีอายุน้อยที่สุด. ใบหน้าของจอห์นในคริสต์ศิลป์ ไม่มีหนวดเครา ผมตกยาวประบ่าเหมือนผู้หญิง. จอห์นติดตามใกล้ชิดพระเยซูเสมอ. ในอาหารมื้อสุดท้าย จอห์นนั่งอยู่ทางขวามือของพระเยซู และศีรษะซบลงบนหน้าอกของพระเยซู).
         Patmos จึงกลายเป็นแดนศักดิ์สิทธิ์อีกแห่งหนึ่งตั้งแต่ต้นคริสต์กาล. ชาวคริสต์เดินทางจาริกไปแสวงบุญที่นั่น, ไปดูถ้ำที่จอห์นเคยอยู่ และที่ที่จอห์นได้เห็นสวรรค์ในมโนทัศน์. เกาะนี้ต่อมาตกไปอยู่ใต้การปกครองของชาวเติร์กอ็อตโตมัน. จนถึงราวปีคศ. 1101 เท่านั้น จึงมีผู้สร้างวัดวิหารอุทิศให้แก่นักบุญุจอห์นบนเกาะ Patmos. ส่วนวัดวิหารในยุคต้นๆนั้น ไม่เหลือมาให้เห็น เนื่องจากชาวเติร์กได้ทำลายกวาดล้างปูชนียสถานของชาวคริสต์ไปเกือบสิ้นซาก.
 
พระเจ้ามาดลใจและเปิดตาให้อัครสาวกจอห์นได้เห็นในมโนทัศน์ วันที่โลกจะสิ้นสุดลง เพื่อให้จอห์นนำไปบอกแก่วัดวิหารเจ็ดแห่ง (ที่ตั้งอยู่ทางตะวันตกของเอเชียไมเนอร์ ที่ตั้งของตุรกีปัจจุบัน. วัดเจ็ดแห่งนี้ครอบอาณาบริเวณพื้นที่ที่คนในศตวรรษที่ 1 คิดและจินตนาการได้. โดยปริยาย จึงมีนัยหมายถึงคริสต์จักรในยุคนั้น) เพื่อเตือนให้ชาวโลก มีสติ รู้ตัวกลัวตายและเร่งรีบกลับตัวกลับใจทำความดี เพราะวันสิ้นโลก กำลังใกล้เข้ามาแล้ว, เพื่อจะได้รับเลือกให้เข้าไปในสวนสวรรค์ แทนการตกนรกทรมานแสนสาหัสไปชั่วกัลป์  (ให้สังเกตว่า ในภาพทั้งสองบนและล่างนี้ มีนกเหยี่ยวอยู่ด้วย. เหยี่ยวเป็นสัญลักษณ์ของอัครสาวกจอห์นผู้แต่งคัมภีร์ใหม่ด้วยเล่มหนึ่ง). 


ภาพจิตรกรรมน้อยที่ประดับหน้าหนังสือสวดหน้าหนึ่ง (ในหนังสือเล่ม Les Très Riches Heures du Duc de Berry ที่เป็นผลงานของพี่น้องตระกูล Limburg) นั้น, จอห์นได้เห็นพระเจ้านั่งบนบัลลังก์ ล้อมรอบด้วยเหล่าเทวทูต และมีแถวของปราชญ์ผู้เฒ่ายี่สิบสี่องค์ (ในคัมภีร์ฉบับภาษาอังกฤษเรียกผู้เฒ่าเหล่านี้ว่า The Elders รวมกันเป็นราชสำนักอย่างย่อๆของพระเจ้าในสวรรค์), ได้เห็นลูกแกะบนหน้าตักของพระเจ้า, มีหนังสือกางแผ่ออกตรงหน้าในอโปกาลิปส์ ลูกแกะมีบทบาทสำคัญมาก เมื่อเอ่ยถึงลูกแกะในคัมภีร์ ให้เข้าใจว่าหมายถึงองค์พระเยซูคริสต์.


         ในที่นี้ เราจะยกเฉพาะผลพวงที่เกิดตามมา หลังจากที่ลูกแกะวิเศษแกะผนึกหลุดออกทีละๆผนึก เพื่อเปิดหนังสืออโปกาลิปส์  เพราะในหนังสือเล่มนี้ มีรายละเอียดอื่นๆมาก. เป็นแหล่งความรู้ ความลึกลับมากมายที่มีคนขุดนำไปใช้ไปแต่งเป็นเรื่องระทึกขวัญหรือเรื่องอิงความเชื่อพร้อมปาฏิหาริย์แบบต่างๆ.
         จอห์นเล่าว่า เขาได้เห็นลูกแกะขาวตัวหนึ่งบนเขา Zion (ซีย็อนในภาษาฮีบรู)[i] ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองเยรูซาเล็มสวรรค์. จอห์นเห็นเลือดไหลออกจากหน้าอกแกะและหยดลงในถ้วย. ย้ำว่าลูกแกะถูกฆ่าสังเวยพระเจ้า เพื่อแก้บาปของคนในโอกาสต่างๆ ตามขนบที่ปฏิบัติกันในโลกโบราณ. แต่ลูกแกะไม่ตายเพราะเป็นแกะวิเศษของพระเจ้า. สังเกตได้ว่า มีลำแสงสว่างแผ่ออกจากหัวลูกแกะ (the Mystic Lamb หรือในภาษาละตินว่า Agnus Dei).  ลูกแกะจึงเป็นสัญลักษณ์หมายถึงพระเยซู ในฐานะพระบุตรถูกส่งให้มาเกิดเป็นคนในหมู่คน เพื่อไถ่บาปให้พวกเขา. เลือดแกะวิเศษ ถือเป็นเลือดบริสุทธิ์ที่ไหลลงในถ้วย, โยงไปถึงการที่พระเยซูได้ทำพิธียูการิทเธีย และให้เหล่าอัครสาวกดื่มไวน์จากถ้วย. พระเยซูมาปรากฏตัวแก่จอห์น, บอกให้จอห์นดูลูกแกะที่เกิดมาเพื่อมนุษย์ (นอกจากมอบขนของมันให้เป็นเครื่องห่อหุ้มกายของคน, มอบตัวเป็นอาหารและมอบชีวิตเป็นเครื่องสังเวย). ตัวพระเยซูเองก็เป็นลูกแกะของพระผู้เป็นเจ้า ที่ถูกส่งลงมาไถ่บาปให้แก่มวลมนุษย์. ในคริสต์ศิลป์ ภาพลูกแกะที่เท้าข้างหนึ่งเกี่ยวด้ามธงไม้กางเขน คือภาพลักษณ์ของพระเยซูเมื่อฟื้นคืนชีวิตและเจิดจ้าด้วยอานุภาพของความเป็นพระเจ้าของพระองค์ [ii].  ดังปรากฏในภาพ The Mystic Lamb หรือ The Adoration of the Lamb ข้างล่างนี้


ภาพThe Mystic Lamb หรือ The Adoration of the Lamb ผลงานปี 1432 ของพี่น้องตระกูลเอ๊ค ชื่อ Jan & Hubert van Eyck [ยัน (และ) อูเบิ๊ต ฟน เอ๊ก]  เดิมเป็นภาพประดับแท่นบูชาใหญ่ที่มหาวิหารเมือง Gand [ก็องดฺ] (Gand ในภาษาฝรั่งเศส หรือ Ghent ในภาษาดัตช์ เมืองนี้อยู่ในประเทศเบลเยี่ยมที่ใช้สองภาษานี้เป็นภาษาประจำชาติควบคู่กันไป), ซึ่งเป็นภาพหนึ่งบนแผ่นไม้ที่สร้างเหมือนหน้าต่าง แบ่งเป็นสามตอน แผ่นกลางเป็นแผ่นใหญ่ สองข้างเล็กลงและปิดลงบนแผ่นกลาง. ศิลปะภาพสามตอนประดับบนแท่นบูชาแบบนี้เรียกว่า Triptych ( จิตกรรมบนบานหน้าต่างสามตอนเรื่องลูกแกะวิเศษนี้ ประกอบด้วยแผ่นไม้ประดับด้วยจิตรกรรมทั้งหมด 12 แผ่นขนาดต่างๆกัน แล้วแต่ว่าไปเป็นองค์ประกอบ ณตรงไหนของจิตรกรรมหน้าต่างสามตอน. ดูภาพในตอนท้ายเรื่อง). ภาพแกะวิเศษนี้ เป็นภาพหนึ่งใน 12 ภาพ  (triptych ส่วนใหญ่ในยุคหลังๆ ไม่ว่าด้วยเหตุผลใด มักถูกแบ่งออกเป็นตอนๆไปอยู่ตามพิพิธภัณฑ์ต่างๆ. ภาพแกะวิเศษนี้ถูกขโมยหายไปอย่างลึกลับในปี 1934  จนถึงปัจจุบันยังไม่ได้คืนมาทุกแผ่นโดยเฉพาะแผ่นกลางที่เนื้อหาคือการพิพากษาสุดท้ายและใต้ภาพนั้นเป็นภาพลูกแกะวิเศษที่นำมาอธิบายในที่นี้. โชคดีอนันต์ที่ Jef Van der Vekeb ได้เนรมิตภาพจำลองไว้ก่อนถูกขโมย.
       ในภาพนี้ มีผู้คนจำนวนมากหลายกลุ่มมาร่วมในเหตุการณ์.  ฝ่ายศาสนา สันตะปาปาหลายรูป, สังเกตได้จากหมวกทรงสูงสามชั้น หรือหมวกปีกกว้างสีแดงที่บอกตำแหน่งของยศระดับการ์ดินัลในศาสนา. ด้านขวาของภาพ เห็นกลุ่มสตรีผู้มีคุณธรรม เป็นนักบุญสตรีผู้ได้ยอมเสียชีวิตเพื่อรักษาความเชื่อและศรัทธาในพระเจ้า.  เห็นได้ว่าถือใบปาล์มยาวเรียวอันเป็นสัญลักษณ์ของการยอมตายเพื่อรักษาความเชื่อของตน (martyrdom).  รอบๆแท่นสูงที่แกะยืนอยู่ เหล่าเทวทูตห้อมล้อม, คุกเข่าประนมมือแสดงความเคารพบูชาต่อลูกแกะ. เทวทูตสององค์แกว่งกระถางธูปและเครื่องหอมไปมา แทนเสียงร้องเพลงสรรเสริญลูกแกะวิเศษ. เทวทูตที่อยู่สองข้างใกล้แท่นบูชาลูกแกะมากที่สุด ถือไม้กางเขน หอก มงกุฎ และตะปู เพื่อบอกว่า ลูกแกะบนแท่นบูชา ก็คือพระคริสต์ที่ตายบนไม้กางเขน. ในคริสต์ศิลป์ แสดงกลุ่มเทวทูตห้อมล้อมบัลลังก์ของพระเจ้าในสวรรค์เสมอ (เป็นวงล้อมทั้งหมดเก้าชั้น เก้ากลุ่ม โปรดดูใน นรกและสวรรค์ ที่ http://www.chotirosk.blogspot.com/2014/09/hell-and-heavens-in-dantes-la-divina.html )
       บนพื้นหน้าของภาพ กลุ่มคนอีกจำนวนมากสองข้าง ทั้งคนในศาสนา กษัตริย์หรือนักบวช ผู้เฒ่าและสามัญชน. หลายคนคุกเข่า กำลังอ่านคัมภีร์. คนแรกข้างซ้ายของภาพคือ Jodocus Vyd ผู้มีตำแหน่งเทียบได้กับนายกเทศมนตรีประจำเมือง Gand. เขาเป็นผู้สั่งให้จิตรกรสองพี่น้องตระกูล Eyck [เอ๊ก] เนรมิต triptych นี้.  บุคคลบนพื้นหน้า บอกปัจจุบันกาล ระยะเวลาของการเนรมิตภาพ และสื่อความหมายว่า พวกเขาไม่ได้เห็นเอง แต่เห็นในมโนทัศน์เมื่ออ่านคัมภีร์ตอนอโปกาลิปส์ของจอห์น. ตรงกลางพื้นหน้า มีสระน้ำพุที่เห็นน้ำไหลออกตรงฐาน. อาจโยงไปถึงแม่น้ำสี่สายที่ไหลลงจากสวรรค์สู่พื้นโลก (เช่นแม่น้ำไทกริซและยูเฟรติซเป็นต้น). ในบันทึกของจอห์นตอนนี้ ละเอียดเกินกว่าจะเนรมิตลงบนภาพจิตรกรรมได้ทั้งหมด. ถึงกระนั้นภาพนี้ได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพสุดยอดของเนื้อหาเรื่องแกะวิเศษ.
        เรื่องราวเกี่ยวกับอัศวินสี่คน ผู้ทำหน้าที่กวาดล้างมนุษย์. เล่าไว้ในเล่มที่หกของอโปกาลิปส์ ที่เริ่มเมื่อลูกแกะวิเศษแกะสลักผนึกที่หนึ่งถึงที่สี่. อัศวินทั้งสี่มาปรากฏตัว เป็นเหตุการณ์เริ่มต้นของจุดจบของโลก.
   เมื่อลูกแกะเปิดผนึกที่หนึ่ง  อัศวินสวมมงกุฎขี่ม้าขาวปรากฏตัวขึ้น. ม้าสีขาว สีของความบริสุทธิ์ ถือคันธนู และมงกุฎ, ได้รับบัญชาให้ออกไปช่วงชิงดินแดน. อัศวินขี่ม้าขาว จึงเป็นสัญลักษณ์ของชัยชนะ, เป็นคำพูดของพระเจ้าหรือชัยชนะของการต่อสู้ระหว่างแว่นแคว้นต่างๆ, เผยให้รู้ว่าโลกจะตกอยู่ในสงคราม. นักเทวศาสตร์มักอธิบายโยงไปถึงการแผ่ดินแดนของจักรวรรดิโรมันไปในทุกทิศทาง ทั้งตะวันตกและตะวันออกเป็นต้น.
เมื่อผนึกที่สองหลุดออก อัศวินบนหลังม้าสีเพลิงถลาออกมา.  ม้าสีแดง สีเลือดที่โยงถึงสงคราม.  มือถือดาบกวัดไกวไล่ฆ่าผู้คน, ทำลายสันติสุขให้สูญสิ้นไปจากโลกอัศวินขี่ม้าสีแดงเป็นเครื่องหมายบอกสงครามกลางเมือง ผู้คนจะจ้องเข่นฆ่ากัน, สังคมระส่ำระสายเพราะสงครามภายใน.  
เมื่อผนึกที่สามหลุดออก อัศวินขี่ม้าสีดำปรากฏตัวขึ้น.  ม้าสีดำเป็นสัญลักษณ์บอกความอดอยาก. มือถือตาชั่ง (โดยปริยายหมายถึงการประเมินค่า กำหนดราคา) เพื่อใช้ชั่งน้ำหนักของผลิตผลทางเกษตร(ในยุคนั้นหมายถึงข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์เป็นสำคัญ), ซึ่งร่อยหลอลงพร้อมกับราคาที่สูงขึ้นลิบลิ่ว. เป็นยุคข้าวยากหมากแพง, ผู้คนล้มตายเพราะขาดอาหาร.   
เมื่อผนึกที่สี่หลุดออก ปรากฏร่างโครงกระดูกเต็มตัว ห่อหุ้มด้วยผ้าหลวมๆ บนหลังม้าสีซีดๆ. มีเจ้าแห่งบาดาลตามติดมาข้างหลัง. โครงกระดูก คือความตาย ความเสื่อมและเชื้อโรคที่จะแพร่ระบาดไปทั่วอย่างรวดเร็ว. ผู้คนจะล้มตายระเนระนาด. บอกให้รู้ว่าความตายมาถึงแล้ว, เป็นจุดจบของทุกอย่าง, มักถูกโยงไปถึงโรคระบาด(เช่นโรคเรื้อน) ที่เกิดขึ้นและคร่าชีวิตคนไปเป็นจำนวนมากตั้งแต่ยุคโบราณจนถึงต้นยุคใหม่.  
          จอห์นยังระบุเปรียบเทียบไว้ว่า อัศวินทั้งสี่ คือลมพายุสลาตัน ที่พัดจากสี่ทิศของโลก, ล้างผลาญสรรพสิ่งบนเส้นทางที่มันพัดผ่าน, เพราะฉะนั้นอัศวินแต่ละคน จะทำลายล้างโลกในแต่ละทิศ. การแปลเชิงทำนายเหตุการณ์จากบทบรรยายเกี่ยวกับอัศวินบนหลังม้าสี่ตัว สี่สีในแต่ละยุคนั้น,  คนอ่านอาจโยงไปถึงเหตุการณ์ในยุคสมัยของตน และเจาะจงแตกต่างแปลกแยกกันไป (ตย.ในยุคนี้ ปีพศ ๒๕๕๗  อัศวินคนที่สี่ คือนำไวรัส Ebola มาสู่โลก. หากเป็นปีนี้ ๒๕๖๓ อัศวินที่ที่สี่ นำโควิด19 มาสู่โลก ).
ภาพอัศวินขี่ม้าสี่นายที่เล่าไว้ในอโปกาลิปส์ของนักบุญจอห์น. สัญลักษณ์ของการฆ่าล้างคนชั่วและสิ่งชั่วร้ายให้หมดไปจากโลก, เป็นจุดจบของโลก แล้วทุกอย่างจะเกิดใหม่, มีเมืองใหม่ โลกใหม่ ฯลฯ. ภาพถ่ายนี้เป็นผลงานปี 1887ของ Виктор Васнецов (หรือเขียนถ่ายเสียงเป็นภาษาอังกฤษไว้ว่า Viktor Vasnetsov, 1848-1926 จิตรกรชาวรัสเซีย) ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. 
       เมื่อผนึกที่ห้าหลุดออก  จอห์นเห็นดวงวิญญาณของชาวคริสต์ทั้งหลายที่ถูกเข่นฆ่าจากการนับถือพระเจ้า ทั้งหมดมาชุมนุมกันใต้บัลลังก์ของพระผู้เป็นเจ้า และเรียกร้องให้พระองค์ลงโทษผู้ที่ประทุษร้ายพวกเขา, ให้พระองค์แก้แค้นแทนพวกเขา. พระเจ้าประทานเสื้อคลุมยาวสีขาวบริสุทธิ์ให้คนกลุ่มนี้ ที่มีจิตใจจงรักภักดีต่อพระองค์และได้ยอมตายเพราะพระองค์ (อาจโยงไปถึงยุคของจักรพรรดิเนโร-Nero โดยเฉพาะ ระหว่างปีคศ. 54-68  เพราะได้สั่งตามล้างตามฆ่าชาวคริสต์เป็นจำนวนมาก).
     เมื่อผนึกที่หกหลุดออก จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่สุด ผืนแผ่นดินถล่มม้วนตัวเหมือนแผ่นกระดาษ, กลบและกลืนทุกสิ่งทุกอย่างในจักรวาล. ดวงอาทิตย์มืดสนิท ดวงจันทร์เป็นสีเลือด ดวงดาวต่างๆตกลงจากท้องฟ้า. ขุนเขาทั้งหลายถูกเขย่าและเคลื่อนออกจากที่. ผู้คนหลบหนีเข้าไปในภูเขาด้วยความสะทกสะท้าน.
        จอห์นระบุยืนยันว่า  ความลับที่เก็บในผนึกที่หนึ่งถึงที่หกนั้น  คือภัยพิบัติทั้งหลายที่มนุษย์จะต้องเผชิญเมื่อฝ่าฝืนกฎบัญญัติของพระเจ้า. ความหายนะที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นว่าพระเจ้าโกรธมนุษย์ถึงขีดสุดแล้ว ส่วนผนึกที่เจ็ดนั้น พระคริสต์เป็นผู้เปิดเอง.  
       เมื่อผนึกที่เจ็ดถูกสลัดทิ้ง มีม้วนกระดาษคลี่ลง เห็นคำพิพากษาของพระเจ้าจารึกไว้. เมื่อนั้นความเงียบจะเข้าปกคลุมทั่วทั้งสวรรค์, เป็นความเงียบสงัดที่น่าพรั่นพรึงก่อนการตัดสินและการสำเร็จโทษ. เทวทูตจะเป่าแตรเจ็ดครั้ง. เกิดปรากฏการณ์เลวร้ายแบบต่างๆ เมื่อเสียงแตรดังขึ้นในแต่ละครั้ง. เช่นระบบนิเวศปั่นป่วนไปทั่วทั้งโลก, เกิดไฟไหม้ป่า, ไหม้พื้นที่เพาะปลูก, แผ่นดินไหว. สัตว์น้ำตายเป็นจำนวนมาก, แหล่งน้ำจืดกลายเป็นพิษ. สิงสาราสัตว์หน้าตาแปลกประหลาด ออกมาเพ่นพ่านรังควาญมนุษย์. ผู้คนทนทุกข์ทรมานแบบเลือดตากระเด็น ถึงกับร่ำร้องหาความตาย, แต่ก็ไม่อาจตายได้ง่ายๆ พระเจ้าต้องการลงโทษคนเลวให้ทรมานไม่รู้จบสิ้น. 
        ความทุกข์ทรมานที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดนี้ ยาวนานเจ็ดปี ตั้งแต่ที่ผนึกแรกถูกแกะออกจนถึงผนึกที่เจ็ดที่เป็นผนึกสุดท้าย. ประชากรในโลกจะล้มหายตายจากไปจำนวนล้านๆคน. จอห์นระบุเจาะจงว่า ผนึกที่เจ็ด สิ้นสุดลงในวันของพระเจ้า อันเป็นวันอันยาวนาน, นานถึงหนึ่งปี. เริ่มตั้งแต่เสียงแตรครั้งที่เจ็ดที่นำความหายนะมาอีกเจ็ดเรื่อง. รวมถึงสงครามระหว่างประเทศต่างๆ(ที่จะเป็นสงครามโลกครั้งที่สาม, ประชากรกว่าหนึ่งในสาม จะถูกลบไปจากโลก). แต่เสียงแตรครั้งที่เจ็ด กลับเป็นข่าวดีสำหรับชาวคริสต์ เพราะมันคือการประกาศให้พวกเขารู้ว่า พระเยซูจะกลับมายังโลกอีก และจะสถาปนาอาณาจักรของพระเจ้าบนโลกมนุษย์ ที่จะยั่งยืนต่อไปหนึ่งพันปี เพราะมนุษย์ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่สามารถธำรงสันติภาพได้อย่างยั่งยืน (เห็นได้ชัดเจนในสงครามโลกสองครั้งที่ผ่านมา และในสงครามโลกครั้งที่สามที่จะเกิดขึ้น, ทุกคนตระหนักแล้วว่า มนุษย์สามารถทำลายล้างกันเองภายในไม่กี่นาทีด้วยอาวุธนิวเคลียส์).
        สรุปได้ว่า หนังสือที่มีตราปิดผนึกเจ็ดแห่งนั้น เปิดเผยแนวโน้มและเหตุการณ์ต่างๆที่นำไปสู่การกลับมาของพระเยซูคริสต์บนโลก ผู้จะสถาปนาอาณาจักรของพระเจ้าบนพื้นโลก ที่ยืนยาวต่อไปหนึ่งพันปี. ซาตานจะถูกมัดจองจำพร้อมลูกสมุนทั้งหมดตลอดพันปี. จะไม่มีอำนาจใดๆเหลือ ที่จะไปล่อลวงประเทศใดหรือบุคคลใด. คนจะยังคงมีธรรมชาติ มีโลกีย์วิสัยเหมือนเดิม แต่ทำบาปน้อยลงไปมาก. ตลอดระยะพันปีนี้ เป็นระยะของการปรับตัวเกิดใหม่, ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปหมด. ธรรมชาติสิงสาราสัตว์ก็เปลี่ยนไป. ธรรมชาติพืชพรรณจะถูกพัฒนาให้ออกดอกออกผลเพิ่มขึ้น. จักรวาลและระบบทางทะเลก็เปลี่ยนไป. เช่นแทนจำนวนมวลน้ำมหาศาลที่ปกคลุมโลกมาจนบัดนี้ ต่อไปนี้จะมีแผ่นดินขยายกว้างออกไปมากขึ้น และพื้นที่ที่ปกคลุมด้วยน้ำ จะมีปริมาณน้อยลง, ทั้งนี้เพราะในจิตสำนึกของจอห์น ทะเลคือการแบ่งแยก เป็นทางกีดขวาง เพราะจอห์นถูกนำไปปล่อยบนเกาะ Patmos ถูกตัดขาดจากชาวคริสต์คนอื่นๆ.  จอห์นจึงยืนยันว่า จะมีทะเลน้อยลง หรือไม่มีอะไรมาแบ่งแยกคนจากคนด้วยกัน. มนุษย์มีอายุยืนยาวขึ้น. เป็นยุคของความผาสุกเบิกบานใจ, ยุคของความเจริญอุดมสมบูรณ์. พระเจ้าแผ่ความรู้ของพระองค์ออกไปทั่วถิ่นหล้า, เหนือน่านน้ำและมหาสมุทร. จะไม่มีสงคราม ชาวโลกเป็นมิตรต่อกัน แต่คนก็ยังคงเป็นผู้รู้ตาย. พระเจ้าวางระบบระเบียบขึ้นใหม่, สร้างเมืองเยรูซาเล็มขึ้นใหม่ ที่เคยเป็นความหวังและการรอคอยของมนุษยชาติมาตั้งแต่ในคัมภีร์เก่าและใหม่, จักเป็นที่รวมสิ่งดีๆทั้งในคัมภีร์เก่าและใหม่ในเมืองเยรูซาเล็มสวรรค์. ยังมีรายละเอียดอีกมากเกี่ยวกับอาณาจักรของพระเจ้า, มีทั้งการเจาะจงขนาด ลักษณะพื้นที่ (เหมือนสี่เหลี่ยมลูกเต๋า), ภูมิทัศน์ของเมืองปลอดโปร่ง ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่เรียงรายสองข้างถนน, มีต้นไม้แห่งชีวิตกลางสวน, ที่มีผลไม้ผิดแผกแตกต่างกันไปแต่ละเดือน, ไม่ใช่ต้นไม้ต้องห้ามเหมือนในคัมภีร์เก่าแล้ว. ทุกคนกินได้. กำแพงเมือง ฐานกำแพง สถานศักดิ์สิทธิ์ ฯลฯ พระเจ้าและลูกแกะเป็นจุดเด่น,  เป็นศูนย์กลางของเมือง. ลูกแกะในอโปกาลิปส์(และในคัมภีร์) เป็นคำเรียกพระเยซูคริสต์ เป็นภาพลักษณ์ของพระเจ้าที่คนสามารถเห็นได้ เพราะพระเจ้านั้น คนมิอาจเห็นได้ด้วยตาเนื่องจากอานุภาพของพระองค์มากเกินสภาวะทางกายภาพของคนเดินดินจะทานได้). เมืองเยรูซาเล็มสวรรค์ จึงเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรของพระเจ้า ที่พระเจ้าจะเนรมิตขึ้นใหม่บนโลกนี้. ประชาชาติมนุษย์ทั้งมวล กลับเป็นคนดีและเชื่อฟังพระเจ้า. 
         อโปกาลิปส์จบลงด้วยการยืนยันจากเทวทูตว่า คำทำนายที่จอห์นได้เห็นได้รู้นั้นถูกต้อง, เป็นความจริง. ให้จอห์นนำความจริงนี้ไปเผยแผ่ให้ชาวคริสต์ได้รู้, มิให้เก็บไว้เป็นความลับ. พระเจ้ายังประกาศว่า พระองค์เป็นจุดเริ่มต้นและจุดจบ. เป็นอัลฟาและโอเมกา (I am Alpha and Omega, the beginning and the end, the first and the last!). อัลฟา Alpha (alpha (Α หรือ α) และโอเมกา Omega (Ω หรือ ω) เป็นอักษรตัวแรกและตัวสุดท้ายของระบบอักษรกรีก, เพื่อเตือนสติให้คิดว่า อย่าได้เหิมเป็นปรปักษ์ต่อพระเจ้าเป็นอันขาด เพราะโทษที่จะได้รับนั้นแสนสาหัส, ให้รีบเร่งแก้ตัวทำความดีเมื่อยังมีโอกาสอยู่. ภาพอัศวินทั้งสี่ถูกนำมาใช้เป็นบทสรุปของภัยพิบัติทั้งมวลที่จะเกิดแก่มนุษย์ อันเป็นจุดจบของโลกก่อนเวลาตัดสินสุดท้าย. นักเทวศาสตร์ชาวโดมินิแกนชื่อ แว็งซ็อง เดอ โบแวส์ (Vincent de Beauvais, 1189 หรือ 1194 - 1264) ได้รวบรวมจดเหตุการณ์เลวร้ายในจักรวาลก่อนการตัดสินสุดท้ายไว้ทั้งหมด 15 ประเภท(ตลอดระยะเวลาเจ็ดปี).

ภาพพระเยซูที่มีอักษรอัลฟาและโอเมกาสองข้างศีรษะ
พบในสุสานใต้ดินที่กรุงโรม ศิลปะในราวศตวรรษที่ 4
         การตีความคัมภีร์รวมทั้งหนังสือเล่มอโปกาลิปส์นั้น มีแตกต่างกันเป็นธรรมดา, อาจขึ้นอยู่กับความพร้อมด้านจิตวิญญาณของผู้ถอดความและจิตสำนึกของผู้แปลด้วย, นอกจากความถนัดในภาษาละตินหรือฮีบรูซึ่งสำคัญยิ่ง. ยังมีผู้ถอดความจากเล่มแปลที่แปลมาจากที่คนอื่นแปลไว้ก่อน ฯลฯ.  การสามารถเข้าถึงต้นฉบับหรืออย่างน้อยเล่มที่สืบทอดมาในสมัยกลางนั้นไม่ง่ายนัก. สำหรับผู้ที่ไม่เข้าใจภาษาละตินหรืออย่างน้อยก็ต้องเข้าใจภาษาฝรั่งเศส, อาจทำให้หนังสือรุ่นใหม่ๆ เบนออกไปจากขนบความเชื่อโบราณมากขึ้น.  เป็นโชคอนันต์ของนักศึกษานักวิจัยชาวฝรั่งเศส เพราะหนังสือหัวข้อศาสนา มีเป็นจำนวนมาก ที่ถ่ายทอดเป็นภาษาฝรั่งเศส ก่อนภาษาอื่นใดในตะวันตก, เพราะปารีสและโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยซอร์บอนน์ เป็นศูนย์ศึกษาเทวศาสตร์ของยุโรป ที่นักปราชญ์จากทั่วยุโรปเดินทางไปเรียนและไปสอนที่นั่น ตั้งแต่ต้นยุคกลางเป็นต้นมา. 
         อโปกาลิปส์เป็นแหล่งความรู้เกี่ยวกับลัทธิศาสนา, เกี่ยวกับสัญลักษณ์ต่างๆที่ศิลปินและนายช่างตั้งแต่ยุคกลางใช้เป็นคู่มือในการสร้างสรรค์คริสต์ศิลป์ทุกประเภท, ให้รายละเอียดและที่มาตลอดจนความหมายนัย,  เป็นแหล่งจินตนาการของนักเขียนรุ่นหลังๆ ที่นำไปพัฒนาแต่งเติมให้เป็นนวนิยายอิงศาสนาหรือนวนิยายลึกลับ รวมถึงการสร้างภาพยนต์.  ผู้ที่ศึกษาเทวศาสตร์ จึงต้องอ่านควบคู่ไปกับคัมภีร์เก่าและใหม่ และหนังสือเกี่ยวกับชีวิตนักบุญอย่างละเอียด. (ตย. Jacques de Voragine) หนังสือกฎจริยธรรมของนักบุญแบร์นาร์ด Saint Bernard de Clairvaux (1090-1153), นักบุญโดมินิก - Santo Domingo (1170-1221) หรือนักบุญโทมัส - Tommaso d’Aquino (1225-1274), หรืองานนิพนธ์ของนักบุญสตรีเทเรซาเมืองอาวีลา (Teresa de Ávila , 1515-1582) เป็นต้น, รวมทั้งหนังสือปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นกับนักบุญต่างๆ. หนังสือเกี่ยวกับคริสต์ศาสนาและคริสต์ศิลป์นี้ มีจำนวนมาก และโดยเฉพาะในภาษาฝรั่งเศส มีนักเขียนนักปราชญ์ที่ได้ศึกษาอย่างละเอียด เป็นที่อ้างอิงสำหรับผู้ศึกษารุ่นต่อๆมา. ความกระชับและไพเราะของภาษาฝรั่งเศส บวกการเจาะลึกเข้าถึงเนื้อหาทั้งเนื้อหาผิวและเนื้อหาแฝง ยิ่งทำให้หนังสือประเภทนี้น่าอ่านและประทับใจผู้อ่าน โดยที่นักวิจัยนักเขียนเหล่านั้น มิได้มุ่งไปที่การเชิญชวนให้เชื่อ หรือมีจุดมุ่งหมายในการเผยแพร่ลัทธิศาสนาแต่อย่างใด, แต่เป็นประสบการณ์ด้านจิตวิญญาณของผู้เขียนแต่ละคน ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่คนในศาสนาอื่นใด ก็รู้สึกได้เหมือนกัน (ตย. Daniel-Rops). สำหรับเราผู้ไม่ใช่คริสต์ศาสนิกชน ก็อ่านได้เหมือนวรรณกรรมเล่มหนึ่ง เพราะรวมทุกอย่างและแฉทุกประเด็นที่เกี่ยวกับธรรมชาติคนและสังคมมนุษย์.   
           มีผู้ถ่ายทอดเนื้อหาของอโปกาลิปส์เป็นภาพวาดแล้วตั้งแต่ต้นยุคกลาง  ดังตัวอย่างที่พบในจารึกอโปกาลิปส์แห่งเมืองบามแบร์ก (Bamberger Apokalypse) ในเยอรมนี, ทำขึ้นในราวปี 1000-1020 ที่เมือง Reichenau [ไฮ้เชะเนา] และอุทิศให้แก่โบสถ์ เซ็นต์สตีเฟนของเมืองบามแบร์ก (ในปี 2003 UNESCO ได้ยกขึ้นเป็นจารึกหนึ่งในเอกสารความทรงจำของโลก - UNESCO Memory of the World International Register). หลังจากนั้นมา ก็มีผู้ถ่ายทอดเป็นภาพจิตรกรรมบ้าง, เป็นจิตรกรรมกระจกสีประดับหน้าต่างในโบสถ์ (เช่นที่โบสถ์เมืองบูร์จส์-Bourges ประเทศฝรั่งเศส มีหน้าต่างสูงบานใหญ่ตรงหัวโบสถ์บันทึกเนื้อหาของอาโปกาลิปส์, และตั้งคู่กับหน้าต่างที่เล่าเหตุการณ์ตอนพระเจ้าพิพากษาครั้งสุดท้าย), หรือเป็นพรมทอขนาดใหญ่ประดับผนังจากศตวรรษที่สิบสี่ ที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีว่าสมบูรณ์ที่สุดคือ พรมทอ อโปกาลิปส์เมืองอ็องเจส์ (Les tapisseries de l’Apocalypse d’Angers) ที่มีทั้งหมด 90 ผืน แต่เสื่อมขาดวิ่นไปเหลือเพียง 69 ผืน, ที่ฝรั่งเศสได้อนุรักษ์ไว้เป็นมรดกวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งของชาติ. พรมทอชุดนี้เป็นผลงานของนิโกลาส์ บาไตย (Nicolas Bataille) ประดิษฐานที่ปราสาทเมืองอ็องเจส์ (château d’Angers, Angers). ที่นั่น ได้สร้างห้องโถงยาวใหญ่ขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจง เพื่อติดพรมทั้งหมดบนผนังกำแพงติดต่อกันตามเนื้อหา เป็นห้องต่อกันไปหลายห้อง ที่มีระบบควบคุมอุณหภูมิ แสงสว่างและความชื้น, เพื่อรักษาพรมให้มีชีวิตต่อไปให้นานที่สุด, ในฐานะที่เป็นวรรณกรรม, เป็นศิลปะและเป็นประวัติศาสตร์ของสังคมที่ไม่มีอะไรเสมอเหมือน.
พรมทอชุดอโปกาลิปส์ เนรมิตขึ้นในปลายศตวรรษที่สิบสี่  มีขนาดใหญ่และยาวประดับเต็มกำแพงของห้องโถงที่สร้างขึ้นเป็นพิเศษ เพื่อแสดงและอนุรักษ์ผลงานชิ้นนี้  ณปราสาทเมืองอ็องเจส์ (château d’Angers) เมืองอ็องเจส์ (Angers) ประเทศฝรั่งเศส.  ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
รายละเอียดบนพรมฉากนรก ด้านขวาของภาพ เห็นอัศวินคนที่สี่ คือความตายบนหลังม้า. ด้านซ้ายภาพอัครสาวกจอห์น ยืนมองดูเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตในวันสิ้นสุดของโลก. ถัดจากอัครสาวกจอห์นเป็นภาพของมารจับตัวคนเลวทั้งหลายยัดลงในหอคอยที่มีปากยักษ์ของมาร Leviathan อ้ารับ พร้อมกลืนกินลงไปในนรก.
            อัลเบร็ชต์ ดูราร์ (Albrecht Dürer, 1471-1528) จิตรกรชาวเยอรมัน ได้เสนอภาพพิมพ์ชุดอโปกาลิปส์ (Apokalypse, 1498) ที่มีทั้งหมด 15 ภาพ, รวมภาพอัศวินบนหลังม้าสี่คนด้วย. ภาพพิมพ์ชุดนี้ มิใช่ภาพของการต่อสู้ แต่เป็นภาพของการทำลายล้างอย่างโหดเหี้ยม, ไม่มีชื่อหรือบทบรรยายประกอบภาพ ทำให้คนดูพุ่งความสนใจไปที่วิธีการนำเสนอเนื้อหา.  เทคนิคของจิตรกรทำให้ภาพชุดนี้ของเขามีอานุภาพสูงสุด.  ดูราร์ เป็นผู้แกะสลักภาพบนแผ่นไม้ด้วยตนเอง และพิมพ์ออกมาเป็นชุด. ในประวัติศาสตร์ศิลป์ นี่เป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดเนื้อหารายละเอียดในอโปกาลิปส์ออกมาเป็นชุดภาพพิมพ์อย่างละเอียดและสมบูรณ์ที่สุด.
ภาพพิมพ์ผลงานของ อัลเบร็ชต์ ดูราร์ (Albrecht Dürer, 1471-1528) เสนอภาพคนขี่ม้าสี่คน กำลังไล่ฆ่าล้างคนให้หมดแผ่นดิน ก่อนการพิพากษาสุดท้ายอันเป็นจุดจบของโลก, ตามที่เล่าไว้ในคัมภีร์ของอัครทูตจอห์นเล่มอโปกาลิปส์. ภาพนี้มีรายละเอียดมากตามแนวการวาดภาพของจิตรกรผู้นี้ (ภาพจากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี).
รายละเอียดเกี่ยวกับภาพลูกแกะวิเศษที่เป็นจิตกรรมบนแผ่นไม้แผ่นหนึ่งใน 12 แผ่นที่รวมกันเป็นจิตรกรรมขนาดยักษ์ที่เคยประดับแท่นบูชาใหญ่ที่โบสถ์เมือง Gand(Ghent) ในประเทศเบลเยี่ยม
จิตรกรรมบนแผ่นไม้สร้างเหมือนหน้าต่างที่แผ่นสองข้างปิดลงบนแผ่นกลาง เรียกว่า triptych [ทริพถิค] ประกอบด้วยจิตรกรรมบนแผ่นไม้ทั้งหมด 12 แผ่น. จิตรกรรมลูกแกะวิเศษ อยู่ใต้รูปพระเจ้า ที่มีพระแม่มารีและจอห์นผู้ประกอบพิธีล้างบาป ขนาบสองข้าง.  เหล่าเทวทูตขนาบถัดออกไปสองข้าง กำลังร้องเพลงสรรเสริญพระบารมีของพระเจ้า. อาดัมอยู่สุดขอบซ้าย และอีฟอยู่สุดขอบขวา. อีฟถือลูกแอปเปิลในมือด้วย. ภาพเปลือยกายของอาดัมและอีฟ เป็นภาพเปลือยกายภาพแรกในจิตรกรรมเฟล็มมิช. จิตรกรเสนอภาพอีฟตั้งครรภ์แล้ว ต้องรับหน้าที่สืบทอดเผ่าพันธุ์มนุษย์ไม่มีวันสิ้นสุด. ในแถวล่างจากซ้ายไปขวา ภาพแรกคือเหล่าคหบดีผู้ทำหน้าที่ควบคุมความประพฤติของชุมชน (เรียกว่า Judge ในคัมภีร์). ภาพถนัดไป คือภาพอัศวินนักรบผู้ออกไปทำศึกสงครามครูเสดในยุคกลาง. ภาพกลางคือภาพลูกแกะวิเศษ. ภาพถัดไปคือกลุ่มนักพรตนักบวช และภาพขวาสุดคือกลุ่มผู้เดินทางจาริกแสวงบุญ.
        เมื่อปิดแผ่นตรงกลาง ด้านหลังยังมีจิตกรรมประดับอีกด้วย. ภาพนี้เป็นแผ่นไม้ที่ปิดลงบนภาพตรงกลางที่มีพระคริสต์/พระเจ้านั่งสง่าบนบัลลังก์  แถวบนสุดเป็นศาสดาพยากรณ์ในคัมภีร์เก่า (หากเป็นชายเรียกว่า prophet หากเป็นหญิงเรียกว่า Sibyl/Sibylle) ผู้ขนาบสองข้างเป็นผู้ชาย สองภาพตรงกลางเป็นผู้หญิง.
แถวที่สอง อัครเทวทูตกาเบรียล มาคุกเข่าตรงหน้ามารี บอกข่าวว่านางเป็นผู้ที่พระเจ้าเลือกให้อุ้มท้องพระบุตร. ในภาพมุมขวามือ นางมารียกมือข้างหนึ่งทาบลงบนอก(ตกใจ), อีกข้างหนึ่งยกขึ้นรับพระบัญชาจากพระเจ้า. เห็นนกสีขาวกางปีกบินเหนือศีรษะนางผู้เหลือบตาขึ้นมอง. ส่วนภาพวิวกลางซ้าย เป็นทิวทัศน์ของเมืองก็องด์ ที่อยู่ของผู้สั่งให้ทำ triptych นี้, ภาพกลางขวา เป็นฉากภายในห้องมีอ่างล้างหน้าล้างมือ (อาจโยงไปถึงห้องของนางมารี).
แถวล่าง  มุมซ้ายภาพผู้ชายสวมเสื้อคลุมสีแดง แสดงว่าเป็นคนมีฐานะและศักดิ์ศรี คือ Jodocus Vyd นายกเทศมนตรีเมืองก็องด์ผู้สั่งให้เนรมิตภาพชุดนี้. ภรรยาของเขา Isabelle Borluut คือภาพขวาสุด กำลังคุกเข่าเช่นกันในท่าอนุโมทนา.  ภาพกลางซ้ายคือ จอห์นผู้ประกอบพิธีล้างบาปให้พระเยซู (John the Baptist), ส่วนภาพกลางขวา คืออัครสาวกจอห์นผู้แต่งคัมภีร์ใหม่ (John the Evangelist)
บทความที่นำมาลงในบล็อกนี้  โชติรส โกวิทวัฒนพงศ์ เป็นผู้เขียน เพื่อความรู้และความบันเทิง เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๕๗  บางส่วนมาจากหนังสืออีบุ๊ค (614 หน้า) เรื่อง ความตายในศิลปวัฒนธรรมตะวันตก. 
ผู้สนใจ ติดต่อขอได้จากผู้เขียน ตามอีเมล์นี้ chotirosko@gmail.com



[i] ซีย็อน หรือไซอ็อนในภาษาอังกฤษ  ในคัมภีร์ไบเบิลแปลว่า ป้อมปราการ  เมื่อกษัตริย์ เดวิด ตีป้อมปราการที่เมืองเยรูซาเล็มแตก ยึดเมืองได้ จึงเปลี่ยนชื่อที่นั่นว่า  เมืองของเดวิด (City of David ดังปรากฏเจาะจงไว้ใน  King James’ Bible 8:1) และต่อมากษัตริย์โซโลมอนสร้างมหาวิหารที่เมืองเยรูซาเล็ม. ความหมายของคำ ซีย็อน จึงรวมไปถึงอาณาบริเวณโดยรอบมหาวิหารไปด้วย และในที่สุด ถูกใช้ในความหมายที่รวมทั้งเมืองเยรูซาเล็ม+ ดินแดนของชนเผ่าจูดาและ+ประชาชาติอิสราเอล (Isaiah 40:9; Jeremiah 31:12; Zechariah 9:13).  แต่ความหมายสำคัญที่สุดของคำนี้ เป็นความหมายอุปมาที่หมายถึง ประชาราษฎร์ของพระผู้เป็นเจ้า และในคัมภีร์ใหม่ความหมายก็ขยายต่อออกไปถึง อาณาจักรจิตวิญญาณของพระเจ้า ซึ่งคือเมืองเยรูซาเล็มสวรรค์ (Heavenly Jerusalem)
[ii] ในคริสต์ศิลป์ ภาพลูกแกะที่เท้าข้างหนึ่งเกี่ยวด้ามธงที่มีรูปไม้กางเขนประดับอยู่  คือภาพลักษณ์ของพระเยซูคริสต์ที่ฟื้นคืนชีวิตและเจิดจ้าด้วยอานุภาพของความเป็นพระเจ้าของพระองค์. ภาพลูกแกะวิเศษแบบนี้ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือผลงานของ Jan & Hubert van Eyck (1432) ที่ประดิษฐานอยู่ในโบสถ์ แซ็งบาวง เมืองก็องด์ ประเทศเบลเยี่ยม (la Cathédrale Saint-Bavon, Gand). ปัจจุบันภาพที่นั่นเป็นภาพเลียนแบบ ภาพจริงที่ถูกขโมยไปในปี 1934 และจนเดี๋ยวนี้ ยังไม่ได้คืน.